พบกล้วยไม้ชนิดใหม่หายากของโลก 6 ชนิด เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายนพรัตน์ ทูลมาลย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ (พฤกษศาสตร์) กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับนายสมราน สุดดี ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืชกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายปอ เต็ก อวง นักพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืชเคปง สวนพฤกษศาสตร์เคปง ประเทศมาเลเซีย ดร.อังเดร์ ชุตแมน และ ดร.ทิมโมที เอ็มเอ อุทเตอร์ริท นักพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช สวนพฤกษศาสตร์คิว ดร.อลาสแตร์ คูลแฮม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ มหาวิทยาลัยเรดดิง สหราชอาณาจักร ร่วมกันค้นพบ กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก ในสกุลเอื้องตะขาบในประเทศไทย 6 ชนิด เป็นการยืนยันได้ว่าประเทศ ไทยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสกุลนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกล้วยไม้ชนิดใหม่ 4 ชนิด ที่กระจายพันธุ์ครอบคลุมเขตพรรณพฤกษชาติของ 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย

เอื้องตะขาบขาว
เอื้องตะขาบขาว

...

1.เอื้องตะขาบขาว กระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-เบอร์มีส มีดอกสีขาว กลีบปากสีขาวมีจุดประสีส้มแกมสีน้ำตาล พบกระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ไทย ลาว และเวียดนาม

เอื้องแมงมุมส้ม
เอื้องแมงมุมส้ม

2.เอื้องแมงมุมส้ม มีดอกสีส้ม กลีบปากสีเหลืองอ่อนมีจุดประสีน้ำตาลแดง ดอกกว้างประมาณ 6 ซม. มีกลิ่นหอม พบเฉพาะในเขตร้อนชื้นภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ประเทศจีน ไทย ลาว กัมพูชา

เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา
เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา

3.เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา กระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-ไชนีส มีดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีเหลืองอ่อนมีริ้วสีม่วงแดงและสีส้มแกมสีน้ำตาล ปลายกลีบปากสีขาว มีกลิ่นหอม พบในแถบเทือกเขาบรรทัด ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทยและกัมพูชา

เอื้องแมงมุมขาวนรา
เอื้องแมงมุมขาวนรา

4.เอื้องแมงมุมขาวนรา กระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-มาลายัน มีลักษณะเด่นดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีเหลืองอ่อน แต้มสีม่วงแดง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปแถบ ยาว 2.1-4.2 ซม. หูกลีบปากด้านข้างรูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือคล้ายรูปไข่ ปลายกลีบรูปตัดตรงและหยักไม่เป็นระเบียบ ปลายกลีบรูปทรงกระบอก ยาว 3-4.7 ซม. ปลายมน ด้านบนมีขนสีขาว พบในเทือกเขาสันกาลาคีรี จ.นราธิวาส และรัฐกลันตัน มาเลเซีย

เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ
เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ

...

นอกจากนี้มีอีก 2 ชนิด ที่พบกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย ได้แก่ เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ มีดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีขาวแต้มจุดประสีม่วงแดงและสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีกลิ่นหอม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์เฉพาะในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี
เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี

และเอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี มีดอกสีเหลือง กลีบปากสีขาวแต้มสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในถุงกลีบปากมีปุ่มสีส้มกระจัดกระจาย มีกลิ่นหอมเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์เฉพาะในแถบภาคตะวันตกของประเทศไทยใน จ.อุทัยธานี จ.เพชรบุรีและ จ.ประจวบคีรีขันธ์

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่