ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566

นับเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งของประเทศไทย และถือเป็นการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ ประเพณีที่สำคัญของชาติไทยให้ได้รับการยืนยันในการมีส่วนร่วมอย่างมุ่งมั่นของประเทศไทยในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เป็นรายการลำดับที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจากโขน นวดไทย และโนรา

...

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความทุ่มเทของรัฐบาลไทย โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผสานพลังกับคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างสุดกำลังมาตั้งแต่ปี 2554 นับตั้งแต่มีการประกาศประเพณีสงกรานต์ ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จนมีการผลักดันคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์ไทย ให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัดในเวทีโลก

ด้วยการนำเสนอสาระและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ 3 วัน คือ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ และเป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา ซึ่งเป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่

ในส่วนกิจกรรมที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติก็มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วคน แตกต่างกันไปตามความเชื่อและแนวปฏิบัติของคนไทยในแต่ละภูมิภาค มีทั้งการชำระล้างความสกปรกและขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนสาธารณสมบัติ ในบางท้องถิ่นมีการอาบน้ำสระผมในลักษณะเป็นพิธีกรรม มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์
ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเกิดสิริมงคล มีการไปวัดเพื่อแสดงคารวะต่อพระรัตนตรัย และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ยังแสดงความคารวะหรือขออโหสิกรรมจากผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณด้วยการมอบดอกไม้ เสื้อผ้าและน้ำหอม รวมทั้งการแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วยการอวยพรและรดน้ำดำหัว มีการจัดกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนาน การละเล่นของหนุ่มสาว โดยการสาดน้ำจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-14 เมษายน บางแห่งอาจต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน

...

สงกรานต์จึงถือเป็นประเพณีที่งดงามมีคุณค่าของไทย เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจและสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสของการแสดงความกตัญญูและความปรารถนาดีต่อผู้มีพระคุณ การแสดงความเอื้ออาทรต่อครอบครัว ญาติมิตรและชุมชน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศความสำเร็จก้องโลกอย่างทันท่วงทีไปแล้ว โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยได้ ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการรักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ ดังนี้

1.ประเทศไทยจะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ประเพณีสงกรานต์ ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน

2.จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน

และ 3.จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้สามารถเข้าถึงประเพณีสงกรานต์ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน และจะร่วมกับชุมชนนานาชาติในการรักษาและ
สืบทอดประเพณีสงกรานต์ในทุกที่ ด้วยจิตใจของความร่วมมือ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“รัฐบาลและประชาชนไทยจะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เจตนารมณ์ทั้ง 3 ข้อบรรลุผลสัมฤทธิ์ พร้อมจะสนับสนุนให้สงกรานต์ในประเทศไทยเป็นเทศกาลระดับโลกที่นำพาผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศต่อไป” นายเศรษฐากล่าว

...

นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำด้วยว่า ขนบ ธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของไทยเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ต่างชาติอยากจะรับทราบ

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน 2567 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

และนอกจากงานสงกรานต์แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจร่วมด้วย เช่น มหกรรมทางด้านดนตรี มหกรรมทางด้านอาหาร และมหกรรมทางด้านงานศิลปะ มหกรรมทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้สงกรานต์ไม่ได้มีแค่การสาดน้ำอีกต่อไป

ทีมข่าววัฒนธรรม ร่วมภาคภูมิใจที่ประเพณีสงกรานต์ของไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลก ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้สร้างชื่อ สร้างรายได้ และสร้างเกียรติภูมิแก่คนไทย

แต่สิ่งที่เราต้องฝากรัฐบาล รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจในคุณค่า สาระ ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ของไทยอย่างถูกต้อง ประจักษ์ชัดและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้แก่คนไทยและชาวต่างชาติ เป็นสิ่งที่จะต้องตระหนักอย่างยิ่ง และทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

...

เพื่อให้การอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีอันดีงามของไทยดำรงอยู่ ในวิถีของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป.

ทีมข่าววัฒนธรรม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่