ผลกระทบจากการแพร่ระบาด "โควิด-19" ทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาวะทางจิต "นิสิต" มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสูงขึ้น ทั้งในด้านภาวะตึงเครียดและภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤติได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ CU Mobile Arts 4 U ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พร้อมขับเคลื่อนการให้บริการ ดูแลสุขภาวะของผู้รับบริการ โดยใช้รถที่บรรจุเครื่องมืออุปกรณ์และผู้ให้บริการที่มีความพร้อมเคลื่อนที่ไปให้ บริการได้ถึงพื้นที่ของผู้รับบริการ
สำหรับเป้าหมายหลักของโครงการ คือ การแก้ปัญหาและเยียวยาจิตใจทางด้านอารมณ์ และสุขภาวะทางจิต รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ผ่านทาง "ศิลปะ" แขนงต่างๆ อาทิ การวาดภาพ การปั้น การร้อง การเต้น หรือการเล่นดนตรี อีกทั้งยังเป็นสื่อเชิญชวนให้นิสิตหรือบุคคลทั่วไปได้ฝึกการทำงานร่วมกัน อย่างเป็นระบบและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
ปัจจุบันการเช็กสุขภาพใจส่วนใหญ่มาจากการทำแบบสอบถาม หรือการถามตอบ ข้อสำคัญนี้เอง จะทำให้ผู้รับบริการที่ใช้บริการโครงการนี้ ได้เช็กสุขภาพใจผ่านวิธีการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ รวมถึงการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เข้าใจอารมณ์ และใช้ความสร้างสรรค์ ผ่านผลงานศิลปะของตัวเอง
...
ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ อดีตคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการดังกล่าว ได้จัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และส่งเสริม บุคลากร ในการใช้ศิลปะเพื่อบำบัดความเครียด โดยการถ่ายทอดผ่านจินตนาการออกมา ในรูปธรรมเชิงประจักษ์ เรียกได้ว่า เป็นการใช้ศิลปะเพื่อเยียวยารักษา พัฒนาจิตใจ เสริมสร้างสมาธิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและ การดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอารมณ์ขั้นวิกฤติ
ขณะที่ อาจารย์ ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะบำบัด คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ CU Mobile Arts 4 U กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาและมองว่า ศิลปะบำบัดนับเป็นศาสตร์และศิลป์หนึ่งของการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ โดยเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่เน้นกระบวนการ และกิจกรรมทางศิลปะ ไม่ได้เน้นที่ผลงานหรือคุณค่าทางศิลปะ ตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ของศิลปะบำบัด นอกจากจะช่วยส่งเสริมสภาวะจิตใจ อาทิ ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียดแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสภาวะทางร่างกาย อาทิ การจัดการกับความเจ็บปวด และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเสริมสร้างทักษะทางสังคม ความสัมพันธ์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
ทางโครงการได้รับผลตอบรับที่ดีจากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างล้นหลาม โดยหนึ่งในนิสิตผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ชื่นชอบกิจกรรมที่ได้เข้าร่วมนี้เป็นอย่างมาก ทั้งการได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาพจิตใจของตน ความเข้าใจในตัวเอง การอยู่กับปัจจุบัน รวมไปถึงความผ่อนคลายที่ได้จากกิจกรรมและบรรยากาศ นอกจากนี้ ทางวิทยากรและทีมงานยังมีความเป็นกันเอง เข้าอกเข้าใจและใส่ใจกับผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย
นอกจากการทำกิจกรรมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว โครงการ CU Mobile Arts 4 U ร่วมกับผู้อำนวยการสถานศึกษา นายสุพร ดงภักกิจ และ ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ นายบุญเลิศ ระงับทุกข์ โรงเรียนวัดดวงแข กรุงเทพมหานคร ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จัดกิจกรรมศิลปะบำบัด เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2566 ณ โรงเรียนวัดดวงแข เพื่อเพิ่มความสุขทางใจ และการผ่อนคลายแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 อีกด้วย.