วันนี้ (10 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (9 ธ.ค. 66) เวลา 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ตนพร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ "ความสำเร็จการคัดแยกขยะต้นทางของกระทรวงมหาดไทย" เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่บริเวณศาลาไทย (Thailand Pavillion) Expo City Dubai เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ด้านการบริหารความยั่งยืน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัด อบต.โก่งธนู นายพิทักษ์รัฐ ระวังกิจ ปลัด อบต.บ้านข่อย นายณวิช อุ่นวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้สนใจ ร่วมรับฟัง โดยเป็นการถ่ายทอดผ่านระบบ FB Live

พร้อมกันนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้นำเสนอ "นิทรรศการความสำเร็จการคัดแยกขยะต้นทางของกระทรวงมหาดไทย" เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กับคุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) รวมถึงผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้รับทราบและนำแนวทางของกระทรวงมหาดไทยไปใช้ประยุกต์ในพื้นที่ของประเทศต่างๆ ต่อไป โดยคุณอาร์มิดา ได้แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของประเทศ และยังได้กล่าวถึงความประทับใจเมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนพื้นที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และฝากให้ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อโลกใบเดียวของเรา โดย UN จะเป็นภาคีเครือข่ายกับกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดพิมพ์หนังสือ MOI'S Waste Segregation for Climate Action และหนังสือ MOI'S SUCCESS ON WASTE SEGREGATION มอบแก่ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ E-book ได้ที่ https://anyflip.com/gdgcb/sdjg/ และ https://anyflip.com/gdgcb/gucv/

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โลกของเราอยู่ในภาวะของคนป่วยหรือคนที่มีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทั้งหมดเกิดจากที่พวกเราทุกคนนำเชื้อโรคมาสู่โลกใบเดียวที่แสนจะสวยงามของเรา ด้วยการใช้ชีวิตแบบผิดวิธี หรือใช้ชีวิตแบบไม่ดูแลรักษาสุขภาพ จนกระทั่งเกิดสภาวะโลกร้อนที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป เกิดโรคระบาด เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่มีความอันตรายทำให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์เรา ซึ่งทั้งหมดเริ่มชัดเจนและมีความสอดคล้องตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ที่เชื่อว่าวันหนึ่งจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่บนโลก จนต้องมีเรือโนอาห์ที่จะพาสิ่งมีชีวิตขึ้นไปเพื่อสร้างโลกใบใหม่ ที่กล่าวไปนั้นทำให้เราเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะที่ประเทศไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอิสระเสรีในการดำรงชีวิต จนมีคำพูดว่า "ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้" คนไทยเราใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยจนเคยตัว มีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อกำเนิดขยะ และที่สำคัญเมื่ออาหารเหลือถูกทิ้งอยู่ในถังขยะก็ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความต้องการของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เกิดการตัดต้นไม้ เผาป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำให้การขาดสมดุลตามธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น

"การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน จึงเป็นแนวทางที่เราได้ริเริ่ม โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มอบรางวัล “สตรีผู้นำด้านการลดโลกร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” แก่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในงานประชุมสัมมนาภาวะโลกร้อน (COP21) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2557 ซึ่งในงานเราได้รับฟังจากสมาชิกทั่วโลก และได้ตระหนักว่า สิ่งที่เราทำเพื่อโลก "No Plan B Only A" เราไม่มีแผนที่สอง เพราะเรามีโลกใบเดียว และได้รู้จักกับคำว่า Change for Good นับว่าเป็น World policy ซึ่งทาง UNFCCC กล่าวว่าเราต้อง Action Now "ทำทันที" ซึ่งตนก็สรุปได้ว่าต้องมาจากผู้นำ มี Passion มีใจมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในช่วงชีวิต ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการที่เราไม่เพิกเฉยต่อการทำเพื่อโลก เช่น การไม่เพิกเฉยต่อเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น ความสำคัญของความสมดุลของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องใหญ่ โดยต้องทำทุกเรื่องไปพร้อมกัน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งในขณะนั้นตนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนที่ 13 ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความตระหนักและร่วมกันรณรงค์ในการให้ประชาชนคนไทยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการขยะ โดยทำงานร่วมกันกับทุกกระทรวงและทุกภาคส่วน เพราะเรามีกลไกทั้งในระดับจังหวัดและในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด นายอำเภอ 878 อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,549 แห่ง ดังนั้น ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยจึงมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล อีกทั้งรัฐบาลยังได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานในการดูแลเรื่องขยะ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สำเร็จ ผู้นำจึงต้องมี Passion และ Change for Good เปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมกับมีภาคีเครือข่ายสำคัญที่จับมือร่วมกันในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสรุปไว้ว่าต้องมาจากการมีส่วนร่วมจาก 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน เกิดเป็นวิธีการหนึ่งเดียวในโลกเกิดขึ้น คือ "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" เพราะ 60-70% ของการใช้ชีวิตมนุษย์ก่อให้เกิดขยะเปียก (Food Waste) ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ถึง 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นสิ่งที่มีมาก มีอันตรายสูงสุด อยู่ที่พวกเรา

"ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบ คือ ตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปี จนเกิดความสำเร็จ และยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกจำนวนมากในทั่วทุกภาคของประเทศไทย เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม ลำพูน สงขลา โดยปัจจุบันองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้มีการรับรอง Methodology โดยการวัดจำนวนคาร์บอนที่ครัวเรือนใช้ต่อวัน ซึ่งผลออกมาว่าคนไทยสร้างคาร์บอนเฉลี่ย 0.252 กิโลกรัมคาร์บอนต่อคนต่อวัน จึงเกิดเป็นแนวคิดว่าเราต้องหาภาชนะที่มีฝาปิด มาขยายต่อยอดโดยการตัดก้นถัง เพื่อใช้กระบวนการย่อยสลายทางธรรมชาติควบคู่กับการป้องกันไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถบริหารจัดการขยะเปลี่ยนเป็นมูลค่า ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน กลายเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งต้องขอบคุณ ศ.ดร.ชนาธิปฯ ที่ได้ริเริ่มการขับเคลื่อนให้กับกระทรวงมหาดไทย จนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจาก Kbank มูลค่า 816,400 บาท จาก 4 จังหวัด และไทยเบฟเวอเรจที่จะรับซื้อคาร์บอนเครดิต จึงนับว่าเป็นต้นแบบขององค์การสมัยใหม่ในการลดโลกร้อน ซึ่งอนาคตเราจะขยายผลไปอีก 22 จังหวัด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการขยายผลทำให้ยั่งยืน โดยน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากโครงการในพระราชดำริ โดยทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม ดัง 4 กระบวนการ ร่วมกันพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งถังขยะเปียกลดโลกร้อนมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นท้องที่ในการทำให้พี่น้องประชาชนเห็นประโยชน์ ตั้งแต่ที่เห็นได้ชัด คือ ลดกลิ่นเหม็น เกิดมูลค่า เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการไปดูงาน และที่สำคัญชาวบ้านที่ทำได้รับการยกย่องว่าได้ช่วยกันในการลดโลกร้อน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2569 การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.87 ล้านตันคาร์บอน หากเปรียบเทียบกับแผน NDC ในการปลดปล่อยก๊าซเสียจากขยะ ปี 2573 ลด 1.6 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าสิ่งที่เราทำและใช้เวลานานกว่า ดังนั้น ตัวเลขมหัศจรรย์เหล่านี้จะเป็นความภาคภูมิใจให้กับพี่น้องประชาชน จึงก่อให้เกิดความมั่นใจของผู้นำระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ที่ทาง UN ประจำประเทศไทยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยประกาศเจตนารมณ์ "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา" เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อร่วมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการหนุนเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านเครื่องนุ่งห่มให้เกิดเป็น Sustainable Fashion ใช้สีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เครื่องจักร ในการทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งปัจจุบันกำลังร่วมกันกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในการรับรองคาร์บอนเครดิตในการผลิตสิ่งทอที่มาจากธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนนำไปสู่ตัวชี้วัดในการบรรลุเป้าหมายการเป็นหมู่บ้านยั่งยืนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนกำลังน้อมนำไปทำ ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ กว่า 75,000 หมู่บ้าน ในการไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน นอกจากนี้ ภายในปี 2567 กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายในการจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกตำบล ซึ่งเรามีต้นแบบมาจากอำเภอโก่งธนูที่มีสวัสดิการจากกองทุนขยะ เป็นกองทุนต้นทุนสนับสนุนให้กับคนในชุมชน ซึ่งตลอด 6 ปีที่ผ่านมาของตำบลโก่งธนู ได้งบประมาณมากกว่า 20 ล้านบาท มาจากขยะรีไซเคิล จึงเป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ที่มีผู้นำของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำเป็นต้นแบบ ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านไปยังพี่น้องประชาชน เพื่อขับเคลื่อนทำให้สำเร็จ

"การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่ UNFCCC ได้จัดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนทั่วโลกได้มาทำให้เกิดสิ่งที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจให้ทุกประเทศไปทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับมนุษย์ทุกคน ซึ่งในวันนี้ประเทศไทยเราโชคดีที่เป็นสมาชิกของ COP อีกทั้งยังมีรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม มีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยที่ให้ความสำคัญและทุ่มเท พร้อมร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการลดโลกร้อน ทำให้ Net Zero เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ MOU นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรับรองเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน นับเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการบรรลุ SDGs คือ การมี Partnership จึงขอให้เราทุกคนร่วมกันเป็นหุ้นส่วน "ทำทันที" เพื่อโลกใบนี้ยังเป็นโลกที่สวยงามสำหรับลูกหลานตราบนานเท่านาน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย