ผ่านพ้นไปแล้วกับ “ครม.สัญจร ครั้งแรก” ของรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่ จ.หนองบัวลำภู รอบนี้เป็นคิวการอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 ได้แก่ บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี งบก้อนใหญ่สุดที่ ครม.อนุมัติอัดฉีด น่าจะเป็นส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 อัตรา 120 บาทต่อตันวงเงิน 8 พันล้านบาท เป็นงบกลางฯ ปี 66

นอกนั้นก็เป็นการจัดงบสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ตามที่แต่ละจังหวัด หน่วยงาน รวมไปถึงที่ภาคเอกชนขอรับการสนับสนุนมา

ในการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ การลงพื้นที่ของ คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จากบริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ผู้ได้รับประทานบัตรมาเมื่อเดือน ต.ค.2565 ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน หากได้รับการอนุมัติก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โปแตชให้ได้ภายใน 3 ปี

ทุกวันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 4 ล้านตัน ทั้งที่เรามีสำรองแร่โปแตชสูงถึง 4 แสนล้านตัน มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี

หากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคลียร์และให้ความมั่นใจแก่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยังคงต่อต้านได้ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ก็ควรเดินหน้าเพื่อผลประโยชน์ชาติและพี่น้องเกษตรกรต่อไป

พอดีผมทราบข่าวมาว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อจัดระเบียบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าที่ควร ทั้งลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การระบายน้ำเสีย อากาศเสีย ฯลฯ โดยที่มีโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ไม่มีโทษอื่น ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว

...

แต่กลับเป็นภาระด้านงบประมาณ ที่รัฐต้องเข้ามาฟื้นฟู บางพื้นที่ส่งผลต่อชีวิต สุขภาพของประชาชน จึงสมควรกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น ตามการกระทำผิด คือให้มีโทษจำคุกด้วย และในร่างฯแก้ไขฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องวางหลักประกันความเสียหายด้วย

ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 30 ที่ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์วิธีการขอจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมไว้ ทำให้กระทรวงฯไม่มีอำนาจไปกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการขอจัดตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมได้ เช่น การกำหนดจำนวนที่ดิน กำหนดให้มีสาธารณูปการ ระบบบำบัดมลพิษ ฯลฯ หากมีการกำหนดไว้ชัดเจนจะช่วยสนับสนุนให้โรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางขนาดเล็ก (SME) ให้มาประกอบกิจการในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกต่อการใช้สาธารณูปโภคส่วนกลาง

นอกจากจะสะดวกต่อการควบคุมด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อมแล้ว ผลพลอยได้ยังเป็นการส่งเสริมให้โรงงานขนาดเล็กที่มีอยู่จำนวนมาก ย้าย (relocate) ออกจากบ้านคนมาอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ปัจจุบันโรงงานขนาดใหญ่จะไปซื้อหรือเช่าพื้นที่ในนิคมฯ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม หากโรงงานเลือกมาอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ก็ไม่ต้องไปขอออกใบอนุญาต ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นหลักประกัน

ขณะเดียวกันโรงงานที่เปิดอยู่นอกพื้นที่ และยังคงสร้างมลภาวะรบกวนชาวบ้าน กฎหมายที่จะถูกปรับให้เข้มงวดขึ้น 1.มีโทษจำคุก 2.ถูกเก็บเงินเป็นหลักประกันเข้ากองทุน ไปเยียวยาชาวบ้านหากสร้างความเสียหาย 3.ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ปิดโรงงานหนีความรับผิดชอบไม่ได้ “ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ มีราคาที่ต้องจ่าย”.

เพลิงสุริยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม