คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน “PM 2.5” ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน

รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ...มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

...

สาระสำคัญ หนึ่ง...คณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาดกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้...

คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย, คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส.เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ

คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และ คกก.อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะแต่งตั้งเมื่อพบว่ามีสถานการณ์และระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

สอง...ระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ กำหนดให้คณะกรรมการบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ

ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

สาม...มาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

สี่...เขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

ห้า...เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ...ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การ ประกันความเสี่ยงและมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด

หก...ความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ

คำถามสำคัญมีว่าร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับ ครม.เห็นชอบ...จะเดินต่ออย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด?

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

...

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม มองว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด จากการพิจารณาเบื้องต้นควรจะต้องมีการปรับปรุงอีกมาก โดยมีข้อสังเกตดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง...มีคณะกรรมการมากเกินไปหรือเปล่า ทั้ง...คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

ถัดมา...คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส.เป็นประธาน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ สาม...คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและคณะกรรมการอากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ เป็นต้น โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

รวมทั้งมีการแต่งตั้งพนักงานอากาศสะอาดเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอีกด้วย

หากพิจารณาในกฎหมายดังกล่าวของต่างประเทศส่วนใหญ่จะจัดการได้เบ็ดเสร็จในชุดเดียว นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมมลพิษ รวมทั้งพนักงานควบคุมมลพิษ ซึ่งได้จัดทำแผนวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหาฝุ่น 2.5

...

น่าสนใจว่า...จนถึงบัดนี้ยังจัดการทำตามแผนไม่ครบเลย ถ้าหากมีกรรมการชุดใหม่มาเพิ่มเติมอีก...หน่วยงานและประชาชนคงปฏิบัติไม่ถูก

ประเด็นที่สอง...มีการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศโดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งก็คงไม่ต่างกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมนั่นเอง...จะซ้ำซ้อนมั้ย

ประเด็นที่สาม...พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น 2.5 เป็นการเฉพาะ ที่จริงแล้วมลพิษทางอากาศที่ต้องดูแลมีตั้งแต่ SO2, NO2, CO, O3, HC (VOCs) PM10, PM2.5, TSP ซึ่งมีมาตรฐาน ควบคุมทั้งในบรรยากาศและแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ และยังมีปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่

ประเด็นที่สี่...พ.ร.บ.อากาศสะอาดยกร่างคล้าย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมทำหน้าที่แบบเดียวกัน หน่วยงานไหนจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลจะมอบหมายกรมควบคุมมลพิษหรือจะตั้งกรมใหม่มาดูแล

ประเด็นที่ห้า...ที่จริงประชาชนต้องการกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งจะออกมาเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงไม่จำเป็นต้องเป็น พ.ร.บ.ก็ได้ แต่ต้องป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้ได้ผลโดยเร็ว ไม่ต้องประชุมกันมากมายแต่ขอให้ลงมือทำอย่างจริงจัง รวมทั้ง บังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัด

...

นอกจากนี้ ประชาชนยังต้องการกฎหมายทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) เพื่อกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษ เปิดเผยข้อมูล “สารเคมี” และ “มลพิษ” ให้สาธารณชนทราบด้วย

ประเด็นสุดท้าย...หากอ้างว่ากำลังจะทำให้มี Clean Air Act เหมือน US.EPA ในอนาคตอาจต้องมี Clean water Act, Solid Waste Disposal Act, Toxic Substance Control Act เพราะสหรัฐอเมริกามีหมด...แต่ประเทศไทยใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดหลักการการจัดการควบคุมมลพิษ

ทั้งหมดเพียงแต่ต้องออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม หรือแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุม เพื่อจัดการ “อากาศสะอาด” จะง่ายกว่า หรือเปล่า...เป็นคำถามทิ้งท้าย ที่ต้องติดตามกันไปยาวๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม