ริ้วขบวนพาเหรดศิลปะร่วมสมัย “เปิดโลก 18 อำเภอ” Chiang Rai Art Carnival 2023 เปิดตัวขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ งดงาม อลังการ เคลื่อนตัวออกจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ผ่านถนนบรรพปราการ หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติไปสิ้นสุดที่สวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย ท่ามกลางเสียงชื่นชมกระหึ่มทั่วทั้งเมือง

นั่นคือ การโหมโรงก่อนลั่นฆ้องเปิดม่าน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) ซึ่ง จ.เชียงราย เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธ.ค.2566–30 เม.ย.2567

นับเป็นความสำเร็จแรกจากหนึ่งในกลยุทธ์ ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดเชียงราย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ระดมความคิดร่วมกับทีมศิลปินเมืองเชียงราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน 18 อำเภอของ จ.เชียงราย พุ่งเป้าประชา สัมพันธ์สร้างการรับรู้ การจัด

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงรายในวงกว้าง เรียกความสนใจจากชาวเชียงราย นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่มาเฝ้ารอชมอย่างล้นหลาม ขณะเดียวกันสื่อมวลชนทั้งของไทยและต่างชาติ ต่างนำเสนอข่าวสารการจัดกิจกรรมดังกล่าวออกไปทั่วโลก

...

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เป็นงานระดับชาติ ที่รัฐบาลมุ่งหมายให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทยสู่สากล และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ โดยมีการจัดงานในรูปแบบการแสดงศิลปะสองปีครั้ง เช่นเดียวกับมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติอื่นๆทั่วโลก อาทิ เวนิสเบียนนาเล่ ของประเทศอิตาลี

สำหรับประเทศไทยมีความแตกต่างออกไป คือ มีการเปลี่ยนจังหวัดที่จัดงานทุกครั้ง โดยคัดเลือกจังหวัดที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ “เมืองศิลปะ” เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งครั้งแรกจัดที่ จ.กระบี่ ในปี 2561 ครั้งที่ 2 ที่ จ.นครราชสีมา ปี 2564 และล่าสุด ปี 2566 ที่ จ.เชียงราย จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก หรือ OPEN WORLD” เป็นการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ พื้นที่และวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายเข้ากับโลกศิลปะในระดับสากล

โดยตั้งเป้าหมายให้ตลอดการจัดงานระยะเวลา 5 เดือน สามารถใช้ผลงานศิลปะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่อง เที่ยวตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล สามารถจ้างงานคนในพื้นที่ได้มากกว่า 8,000 คน เกิดรายได้ ทั่วทั้ง จ.เชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงกว่า 30,000 ล้านบาท รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกตลอดจนสนับสนุนให้ใช้มิติด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเมืองและประชาชนในจังหวัดเชียงรายให้มีความก้าวหน้า

จนถึงวันนี้ศิลปินจากทุกทวีปทั่วโลก 21 ประเทศ จำนวน 60 คน ทยอยสร้างสรรค์ผลงานให้เข้ากับธีมที่กำหนดและเตรียมนำไปติดตั้งในสถานที่สำคัญของ 4 อำเภอแล้ว ประกอบด้วย อ.เมืองเชียงราย ได้แก่ พิพิธภัณฑ์บ้านดำ, วัดร่องขุ่น, ขัวศิลปะ, หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM), ตึก RJJ, ปฐมาคารนุสรณ์ 2542 และพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย, ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน, สวรรค์บนดินทีเฮาส์, สิงห์ปาร์ค, ห้องสมุดรถไฟ, หอนิทรรศการ, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.เชียงราย, ศาลากลางเชียงรายหลังเก่า, อุทยานศิลปวัฒนธรรมไร่แม่ฟ้าหลวง, เชียงรายครีเอทีฟ ซิตี้ เซ็นเตอร์, เวียงทองบุ๊ค และโกดังยาสูบ

อ.เชียงแสน ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน, ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ, ศรีดอนมูลอาร์ตสเปซ, วัดป่าสัก, ศูนย์ดิจิทัล ชุมชนตำบลเวียง, สามเหลี่ยมทองคำ, โกดังช้าง, โบราณสถานหมายเลข 16, โรงเรียนบ้านแม่มะ อ.แม่ลาว ได้แก่ บ้านสวนสมพงษ์ และเรียวกังอาร์ตเซ็นเตอร์ และ อ.พาน ที่บริเวณถนนพหลโยธินสายเก่าในเมืองพาน ตั้งแต่สามแยกชัยมงคลถึงตลาดหกแยก และหอศิลปะและวัฒนธรรม อ.พาน

...

นอกจากนี้ ยังสร้าง 13 พาวิลเลียน สำหรับแสดงผลงานของศิลปิน ที่พร้อมต้อนรับผู้ชมจากทั่วโลก ให้เข้ามาสัมผัสผลงานศิลปะในหลากหลายรูปแบบโดยแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมพื้นถิ่น พร้อมกันนี้ ยังสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมร่วมสมัย ที่สะท้อนถึงตัวตนรากเหง้าเอกลักษณ์ของชุมชนต่างๆ กระจายตัวไปทั่ว 18 อำเภอด้วย

นายประสพ เรียงเงิน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า ในวันเปิดงานวันที่ 9 ธ.ค.นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตอบรับมาเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่ง ถือเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานส่งเสริมเทศกาล Thailand Winter Festival โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญตั้งแต่การจัดเตรียมลำดับพิธีการ การเชิญแขกทั้งในและต่างประเทศทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบและประสานการทำงานทุกด้าน อาทิ ฝ่ายต้อนรับ จัดทำของที่ระลึก การดูแลรักษาความปลอดภัยและการจราจร เน้นย้ำให้ดำเนินการทุกด้านอย่างดีที่สุด ขณะที่พิธีเปิดต้องทำให้สั้น กระชับ มีระดับได้มาตรฐานสากลเพื่อเป็นแบบอย่างการจัดงานระดับนานาชาติของประเทศไทย

...

ทีมข่าววัฒนธรรม เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะผู้จัดงานทุกฝ่าย โดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติสายเลือดเชียงราย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แม่ทัพใหญ่ของงานนี้ เป็นทั้งผู้คิด ผู้สร้าง ผู้นำ ลงทุน ลงแรง จัดทัพศิลปินเชียงราย ร่วมประสานงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง และจวนจะก้าวไปถึงฝั่งในอีกไม่ช้า

หากทุกภาคส่วนยังคงผสานพลังขับเคลื่อนการดำเนินการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงรายไปสู่ความสำเร็จได้

นอกจากจะเป็นการ “เปิดโลก” ตามธีมงานที่กำหนดไว้ ยังจะเป็นการ “เปิดประเทศ” โชว์ศักยภาพของคนไทยที่สามารถพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย

เพื่อผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ให้ปรากฏสู่สายตาคนทั้งโลกได้อย่างสง่างามและยั่งยืน.

...

ทีมข่าววัฒนธรรม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่