ทราบหรือไม่ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึงกว่า 11,379 รายทั่วประเทศ จากตัวเลขนี้พบข้อมูลจากการวิเคราะห์อุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชน หรืออีกนัยหนึ่งคือ อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นในชุมชนที่มีถนนสายหลักพาดผ่าน เหตุนี้เองการร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมามีการวางมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยโดยการทำงานในระดับชุมชนหรือตำบล ซึ่งความสำเร็จเหล่านั้นกำลังจะขยายผลสู่ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” โดยการจับมือกันของ 115 อปท. ร่วมกับ สสส. และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ประจำปี 2567 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย”

จากตำบลสู่ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย”

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ประจำปี 2567 ครั้งนี้ คือการร่วมกันถอดบทเรียนจากการดำเนินงานด้านการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยชุมชนในระดับตำบล ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐในชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลต่อไปในระดับอำเภอ นายแพทย์ พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าการขยายผลจากระดับเล็กไปสู่ระดับใหญ่คือการสร้างความเชื่อมโยงและปูทางสู่การสร้างความปลอดภัยที่ยั่งยืนในอนาคต

“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินงานตำบลขับขี่ปลอดภัย 115 ตำบลขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งจากภาคีเครือข่าย ภาครัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายวิชาการ ก็ทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น คนที่จะรู้จักพื้นที่ในชุมชนดีที่สุดก็คือคนในชุมชนนั่นเอง ดังนั้นการเฝ้าระวังและลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนโดยชุมชนจึงประสบความสำเร็จ และเรากำลังขยายการทำงานเหล่านี้สู่ระดับอำเภอ โดยเชื่อมต่อพื้นที่อำเภอเสี่ยงสูงและสูงมาก 21 อำเภอ จาก 275 อำเภอ (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค) เพื่อให้เกิดมีแผนมีการทำงานจัดการความปลอดภัยทางถนน จากตำบลสู่อำเภอเชื่อมโยงสู่จังหวัด ในที่สุดก็สามารถขยายผลสู่ระดับประเทศ ทั้งนี้การนำองค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการต่างๆ เข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ก็ช่วยให้การทำงานมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น”

สอดคล้องกับแนวคิดของ นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. ที่กล่าวว่าข้อมูลจากการศึกษาและวิเคราะห์ผลต่างๆ สามารถนำไปขยายผลและสร้างผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมได้ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นประโยชน์จากการเฝ้าระวังโดยชุมชน และมีมาตรการจากชุมชน นายแพทย์ธนะพงศ์ ชี้ถึงข้อมูลหนึ่งน่าสนใจและเป็นประโยชน์ว่า จากผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มักจะเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในระยะ 5-10 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าคนในพื้นที่หรือชุมชนเองคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด ดังนั้นหากสามารถสร้างมาตรการและกลไกจัดการได้ดี ก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ทั้งนี้ต้องเป็นการจัดการเชิงบูรณาการที่ใช้แนวคิดขับเคลื่อน ทั้งการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อลงลึกถึงรากปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยของสภาพแวดล้อม หรือแม้พฤติกรรมของผู้ขับขี่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมกลไกบูรณาการมาตรการกับผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความยั่งยืน 

ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” ครั้งนี้จะได้เริ่มต้นทำงานเชิงปฏิบัติการกับอำเภอนำร่อง 10 อำเภอ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในระดับต่างๆ ตั้งแต่เสี่ยงปกติ เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ 

1. อำเภอวังทอง ศปง.ทต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
2. อำเภอเมืองลำพูน ศปง.อบต.หนองหนาม อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
3. อำเภอเมืองอุทัยธานี ศปง.อบต.น้ำซึม อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี
4. อำเภอบ้านแฮด ศปง.ทต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
5. อำเภอสุวรรณภูมิ ศปง.ทต.สุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
6. อำเภอหนองกี่ ศปง.อบต.บุกระสัง อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์    
7. อำเภอท่ายาง ศปง.อบต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
8. อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ศปง.อบต.ห้วยทราย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
9. อำเภอเมืองสตูล ศปง.อบต.ฉลุง อ.เมืองสตูล จ.สตูล
10. อำเภอรัตภูมิ ศปง.อบต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

พลังจากชุมชนเพื่อความสุขของคนทั้งประเทศ

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่นครั้งนี้ ยังมีการเสวนา “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สู่ชุมชนวิถีใหม่” ที่ทำให้เห็นแนวทางความสำเร็จของการปฏิบัติการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในระดับชุมชนที่น่าสนใจ อย่างแนวทางของ อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นอีกพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีถนนสายสำคัญอย่างถนนมิตรภาพพาดผ่าน โดยได้ดำเนินการเชิงนโยบายผ่านแนวคิด “365 ขับขี่ปลอดภัย” ที่ขยายผลสู่การปฏิบัติ เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่จะติดต่อราชการที่ที่ว่าการอำเภอ ต้องสวมหมวกกันน็อกเท่านั้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและเกิดผลลัพธ์ที่ดี นั่นคือ การทำโครงการ “ผ้าป่าหมวกกันน็อก” โดยแจกหมวกกันน็อกสำหรับโรงเรียน และหมู่บ้านต่างๆ โดยได้เริ่มในปี 2565 และมอบหมวกกันน็อกไปแล้ว 304 ใบ ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่และพบว่าการเข้าถึงหมวกกันน็อกเป็นข้อจำกัดหนึ่งของคนในชุมชน จึงได้จัดให้มีพื้นที่สำหรับยืมหมวกกันน็อกก่อนการสัญจรขึ้น รวมถึงเพิ่มด่านกวดขันผู้ขับขี่จักรยานต์ เพื่อให้ยืมหมวกกันน็อกแทนการปรับจับ ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อตัวเลขอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

คุณนิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. เล่าว่าความสำเร็จในระดับชุมชนถือเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจที่จะนำไปสู่การขยายผลได้อย่างดี ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปฏิบัติ โดยการใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันก็เป็นการผสานความร่วมมือ ผ่านการใช้ฐานของงานท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตำบล เพื่อสร้างกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้การทำงานเชิงบูรณาการความร่วมมือของ สสส. ทั้งสำนัก 3 ที่ทำงานเชิงพื้นที่ และสำนัก 10 ในเชิงประเด็น ก็ช่วยให้การนำชุดความรู้ยุทธศาสตร์ และวิชาการ มาขยายผลให้ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” เกิดเป็นจริงขึ้นได้

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ประจำปี 2567 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือกันอย่างจริงของระดับชุมชนเท่านั้น แต่ยังนับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือเพื่อสร้างถนนที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะกลายเป็นสุขอย่างหนึ่งของชุมชนและคนทั้งประเทศ