“ในมุมของตัวเองขอมองบวก ขอบคุณคุณผู้ชายคนนั้นที่มาต่อว่าน้อง เพราะถ้าไม่มีคนนั้นน้องไม่เป็นข่าว สังคมคงไม่ได้รู้เรื่องของน้อง ผู้คนเข้ามาให้กำลังใจน้องมากมาย เชื่อว่าน้องจะ ได้รับการตอบรับไม่ว่าจะไปแสดงที่ไหน จึงต้องขอบคุณคุณคนนั้น ที่ทำให้น้องเป็นข่าว ได้บอกน้องไปว่าขอให้ทำความเข้าใจว่าปัญหาอยู่ที่คนคนนั้นไม่ได้อยู่ที่เรา”

คำพูด น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจน้องพิมพ์

ให้กำลังใจน้องพิมพ์

กับกระแสข่าวสาวพิการทางสายตาร้องเพลงเปิดหมวกเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว แต่ถูกชายสูงวัย บุกต่อว่าโวยวายว่าเสียงดังรบกวน ขณะเล่นเปิดหมวกหารายได้หน้าห้างสรรพสินค้าย่านรัชดา ทำเอาเจ้าตัวร้องไห้

รีบเก็บของกลับบ้าน ยุติการเล่น และโพสต์ผ่านเพจส่วนตัว “พิมมี่ คีย์บอร์ด” ระบุ “เหนื่อยจนแทบกินน้ำตา ชีวิตต้องดิ้นรนแต่บางครั้งก็รู้สึกท้อมาก” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นสภาพการเปลี่ยนไปของสังคมไทย

จากเดิมที่คนไทยอยู่ด้วยกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจคนที่ทุกข์ยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบพิการสายตาหรือร่างกาย จะได้รับความเห็นใจเป็นพิเศษจากสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา

ชีวิตของน้องพิมพ์ สาวพิการทางสายตา ไม่ได้ทำตัวเป็นปัญหาสังคม ใช้ความสามารถพิเศษทางดนตรี เช่าที่ “เปิดหมวก” หาเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว กลับต้องมาเสียแรงใจจากลุงที่มาทำร้ายซ้ำเติมจิตใจ

...

สะท้อนปัญหาสังคมไทย

น.ส.กัญจนา บอกว่า ทราบข่าวน้องมาเล่นดนตรีเปิดหมวกหารายได้ดูแลตัวเองและครอบครัว แต่มีบางคนมาไล่น้องฟังแล้วสะเทือนใจ วันนี้มาให้กำลังใจน้อง ถึงแม้เป็นผู้พิการทางสายตา แต่ก็ไม่ได้งอมืองอเท้า มีความสามารถเล่าเรียนมาทางดนตรี และมาใช้ความสามารถของตัวเองทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

น.ส.กัญจนา บอกว่า ตั้งใจมาให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นน้องต้องการลำโพง ไมค์ ไม้เท้าขาวของผู้พิการทางสายตา จะจัดหาให้เอง ขอให้กำลังใจผู้พิการทุกคน ที่พยายามต่อสู้ให้มีที่ยืนและให้มีโอกาสในการดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมขอให้กำลังใจทุกคน

ย้ำว่า หน้าที่ของกระทรวง พม.หน่วยงานของรัฐ คนไทยทุกคนเปิดโอกาสผู้พิการที่มีความสามารถ ไม่ต้องการรอรับการสงเคราะห์ ให้มีพื้นที่ยืนในสังคม เขาต้องการเป็นผู้ที่จะลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตัวของตัวเอง

เพียงแต่ต้องการโอกาสจากผู้คนในสังคมไทย.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "เลขที่1 วิภาวดีฯ" เพิ่มเติม