ผมเขียนมาหลายครั้งว่า GDP เป็นสิ่ง “สมมติ” แม้จะสมมติจาก “ฐาน” ที่สามารถวัดได้ ตรวจสอบได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีเรื่องที่วัดไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้วิธีคาดคะเน หรือประมาณการควบคู่ไปด้วยอีกหลายๆส่วนในตัวเลขที่ประกอบกันเป็น GDP
ดังนั้นทุกครั้งที่หยิบมาใช้เราจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ใช้อย่างรู้เท่าทัน และอย่าใช้อย่าหลงเชื่อว่ามันจะเป็นเช่นนั้น 100 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่ผู้ใช้ตัวเลข GDP จะต้องรำลึกอยู่เสมอก็คือ ตัวเลข GDP ต่างกับตัวเลข “ผลเลือด” ที่คุณหมอท่านเจาะไปจากแขนของพวกเราและส่งไปให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วัดผลว่าเลือดที่เราเจาะไปนั้น มีค่าโน่นนี่นั่นอย่างไรบ้าง
มีเบาหวานเท่าไร? มีคอเลสเทอรอลเท่าไร? คอเลสเทอรอลตัวดีเยอะแค่ไหน? ตัวร้ายเกินขนาดไปแค่ไหน? ค่าตับค่าไตเป็นอย่างไร?
หยดเลือดสามารถบอกข้อเท็จจริงในตัวเราหลายอย่างได้อย่างถี่ถ้วน ขอเพียงเราต้องเชื่อหมออย่าแอบไปกินอาหารก่อนหรือดื่มนํ้าเยอะๆก่อนเจาะเลือด...เพราะด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์มันจะวัดออกมาได้เป๊ะ พร้อมที่จะให้คุณหมอวินิจฉัยอาการได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริง
แต่ตัวเลข GDP มีที่มาหลายอย่างมีการจัดเก็บหลายๆรูปแบบ อย่างพวกส่งออกนำเข้า หรือดุลการค้า ดุลการชำระเงินอาจวัดได้เป๊ะๆ เพราะผ่านระบบการค้าขาย ระบบศุลกากร หรือสรรพากร หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
ในทางทฤษฎีถือว่าเป็นตัวเลขที่เกือบแท้ และเชื่อได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นหากจะวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการส่งออกนำเข้าจากดุลการค้า หรือดุลการชำระเงินจึงสามารถวัดได้หมดและวิเคราะห์ได้อย่างค่อนข้างถูกต้อง นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านส่งออกนำเข้าหรือดุลชำระเงินได้อย่างแท้จริง
...
แต่เนื่องจากตัวเลข GDP ยังมีอย่างอื่นๆเข้ามารวมอีกเยอะ...เช่น ตัวเลขการบริโภคของประชาชนของรัฐ ตัวเลขการลงทุนทั้งของเอกชนและของรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติเราไม่สามารถวัดเป๊ะๆได้ทั้งหมด
การลงทุนของรัฐอาจดูได้จากงบประมาณการใช้จ่ายประจำปี ว่าจ่ายไปแล้วเท่าไร ยังค้างอยู่ในท่องบประมาณเท่าไร? ของภาคเอกชนใหญ่ๆก็อาจดูได้จากบัญชีที่แจ้งกรมสรรพากร หรือถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯก็อาจมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เวลาแจ้งผลประกอบการ
แต่สำหรับการลงทุนขนาดกลาง ขนาดย่อม อีกไม่รู้กี่แสนบริษัท เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะถูกต้อง?
ยิ่งในประเทศที่มีสีเทาเยอะๆ สีดำเยอะๆ มีการฟอกเงินเยอะๆมีการหลบภาษีเยอะๆ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะประมาณได้อย่างถูกต้องกับสารพัดการลงทุนของภาคเอกชน
จึงต้องใช้การประเมินเอาบ้างเพื่อให้ใช้ไปพลางๆก่อน และเมื่อ ประเมินผ่านไปแล้ว 2-3 ปี กลับมาดูตัวเลขใหม่จะเห็นว่ามันไม่ใช่อย่าง ที่เคยประเมินไว้ต้องปรับตัวเลขกันใหม่ ซึ่งก็มีทั้งปรับขึ้นปรับลง
แม้แต่ตัวเลขที่คิดหรือเชื่อกันว่าไม่ควรผิดพลาดอย่างตัวเลข “ส่งออก” ก็เคยพลาดอย่างจั๋งหนับแล้วเมื่อหลายปีก่อน
สืบเนื่องมาจากความเป็นศรีธนญชัยกับความเป็นสีเทาที่มีอยู่ในประเทศไทยทุกยุคนั่นแหละครับ ว่างๆผมจะเล่าย้อนอดีตอีกสักครั้ง
ในฐานะคนที่เคยใช้ GDP มาพอสมควรคนหนึ่ง ผมจึงเขียนเตือนผ่านคอลัมน์นี้อยู่เสมอว่า GDP เป็นเครื่องมือที่ดีช่วยให้เราตัดสินใจที่สำคัญได้ในหลายๆเรื่องก็จริง แต่จะต้องผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
ยกตัวอย่างเช่น การที่มองว่า GDP ของเราขยายตัวตํ่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมานับ 10 ปีแล้วเป็นเรื่องที่ดี เพื่อจะมองหาเหตุผลว่าเพราะอะไรเราจึงตํ่ากว่าเขา และเราจะสู้เขาได้อย่างไร?
หาเหตุแห่งการสูงของเขา และการตํ่าของเราให้ชัดเจนเสียก่อนจะได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง อย่าไปด่วนสรุปว่า “วิกฤติ” แล้วแบบนี้ต้องกู้มาแจกแก้วิกฤติถึงจะรอดเป็นอันขาด
จะกลายเป็นการใช้ GDP ในทางที่ผิด และอาจนำไปสู่การแก้ไขผิดๆ ...ลงท้ายนอกจากเราไม่สามารถชนะเขาได้แล้ว เราอาจถูกน็อกไปเสียเอง เพราะกู้เกินตัวมาแจกจนล้มละลาย
ฝากเป็นข้อคิดก่อนวันลอยกระทง สำหรับผู้ที่กำลังจะใช้ GDP มาสนับสนุนการแจกเงินด้วยก็แล้วกันครับ.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม