จากการที่ประเทศไทยส่งนักวิจัยไทยไปที่อาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) กับประเทศจีน ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอานุภาพ พานิชผล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เป็นเวลา 3 เดือน และได้กลับสู่ประเทศไทยแล้วนั้น
ดร.สุจารีกล่าวว่า คณะนักวิจัยเดินทางโดยเรือตัดน้ำแข็ง “ซูหลง 2” ของประเทศจีน ซึ่งในปีนี้ เป็นปีแรกที่คณะสำรวจของประเทศจีนสามารถเดินทางไปถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือ ณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จ แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งขั้วโลกบางลงกว่าปีก่อนๆมาก เนื่องจากน้ำแข็งที่หายไปสามารถคืนกลับมาได้น้อยลง ทำให้เรือตัดน้ำแข็งสามารถเดินทางเข้าไปสู่จุดที่เป็นขั้วโลกเหนือได้ไม่ยากนัก ในระหว่างการเดินทาง นักวิจัยจากประเทศจีน รัสเซีย และไทย ได้ร่วมกันสำรวจวิจัยทางสมุทรศาสตร์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขั้วโลกเหนือ โดยการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล ดินตะกอน แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์ทะเลบางชนิด เพื่อตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา
นายอานุภาพกล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ความหนาของน้ำแข็งใหม่ในรอบปีมีความหนาที่ลดลง ส่วนเรื่องของมลพิษในทะเล เช่น การสะสมของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลและในอากาศบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
...
ด้าน ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวว่า เดือน ม.ค.2567 จะ ส่งนักวิจัย 2 คน ได้แก่ สพ.ญ.ดร.คมเคียว พิณพิมาย จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และ รศ.ดร.ภศิชา ไชยแก้ว จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางไปพร้อมกับคณะสำรวจแอนตาร์กติกรุ่นที่ 40 ของประเทศจีน เพื่อสำรวจที่แอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) ต่อไป.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่