วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปยังศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในพิธีมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี คณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ให้การต้อนรับ

จากนั้นผู้แทนพระองค์ มอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายอุดม สุขสุดประเสริฐ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิศวกรรมโยธา นายวัลลภ มานะธัญญา ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม และมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีรวมกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง สถาบันสมทบด้วย รวมทั้งสิ้น 4,195 คน

ในการนี้ ประธานองคมนตรี ให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปีการศึกษา 2565 ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ

บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในสาขาวิชาที่แต่ละคนได้เล่าเรียนมา แต่เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงาน ก็คงจะได้พบว่า การใช้ความรู้ความสามารถเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อาจช่วยให้ทำงานจนสำเร็จสมบูรณ์ได้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถด้านอื่นๆ เข้าประกอบส่งเสริมด้วย ดังเช่นในองค์กรหนึ่งๆ ก็จำเป็นต้องมีบุคลากรหลายฝ่าย ที่มีความรู้ความสามารถต่างๆ กัน มาทำงานร่วมกัน บัณฑิตจึงควรสร้างเสริม เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตน ให้ลึกซึ้งและกว้างขวางขึ้นอยู่เสมอ แล้วนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ไปใช้ให้ประสานสอดคล้องกับทุกคนทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาความสัมพันธ์อันดี ถ้าทำได้ ก็จะบังเกิดผลดี แก่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างไพศาล

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน มีความสุข ความสำเร็จ พร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและกิจการงาน ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาประชุมพร้อมกันในพิธีนี้ มีความผาสุกสวัสดีโดยทั่วกัน”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดสอนตั้งแต่ระดับ ปวช. ถึงปริญญาเอกมีนักศึกษาทั้งสิ้นกว่า 27,000 คน ในปีการศึกษา 2565 มหาวิทยาลัยดำเนินภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องปฏิบัติ 4 ประการ คือ การผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ การวิจัยและพัฒนา การให้บริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยได้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาล และตามความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาคน พัฒนานวัตกรรม พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาให้บัณฑิตมีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อเป็นผู้พัฒนาและสร้างสรรค์เทคโนโลยี ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

ภารกิจด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล มจพ. ได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใสจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นปีที่ 6 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ภารกิจด้านการบริหารจัดการ มจพ. มีแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 13 เพื่อเป็นทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะ 5 ปี และคำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายทิศทางการพัฒนาประเทศในส่วนที่มหาวิทยาลัยมีความเกี่ยวข้องผ่าน 4 ยุทธศาสตร์เป้าหมาย คือ ความเป็นเลิศด้านการจัดการศึกษา ความเป็นเลิศด้านการวิจัย สร้างสรรค์ประดิษฐกรรมและนวัตกรรม ความเป็นเลิศด้านบริการวิชาการ และความเป็นเลิศด้านการจัดการ ในด้านการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยมีการลงนามความร่วมมือเครือข่ายกิจกรรมนักศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตแบบองค์รวม ทั้งด้าน Soft Skills และ Hard Skills เพื่อสอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ คว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นสมัยที่ 9 รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นเลิศด้านการวิจัย ด้วยผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จนมีการจัดอันดับในระดับโลกที่สูงขึ้น อีกทั้งสนับสนุนการศึกษา วิจัย และพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพของประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อส่งมอบระบบดาวเทียมให้กับลูกค้าในต่างประเทศ ตลอดจนมีการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น