จากการที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ต่อที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ด้วยการเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2573

โดยเป็นการดำเนินการภายในประเทศ ร้อยละ 30 และหากได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศ จะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีกร้อยละ 10

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ปี 2562...มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 373 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า โดยมาจากภาคพลังงานและการคมนาคมขนส่งมากที่สุด ร้อยละ 70 รองลงมาคือ ภาคเกษตร ร้อยละ 15 ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 10 และภาคของเสีย ร้อยละ 5

ในส่วนภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก 57 ล้านตันฯ พบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด ร้อยละ 51 รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน ร้อยละ 22 การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ ร้อยละ 19 การจัดการมูลสัตว์ ร้อยละ 6 และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ร้อยละ 2

เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้บรรจุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันฯ ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566-2570

โดยมีมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้งของกรมการข้าวและกรมชลประทาน การนำของเสียจากมูลสุกรของภาคปศุสัตว์ไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าของกรมปศุสัตว์

การลดใช้ปุ๋ยเคมีด้วยแอปพลิเคชันรู้จริงพืชดินปุ๋ย (TSFM) และโครงการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ผสมปุ๋ยใช้เองของกรมพัฒนาที่ดิน โครงการพัฒนากระบวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืชเศรษฐกิจ เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตของกรมวิชาการเกษตร

...

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคเกษตรสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2.74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573.

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม