เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผมอ่านข่าวที่ระบุไว้ว่าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ “มติชนออนไลน์” ก็จัดการปรินต์ไว้ทันที ตั้งใจจะนำมาเขียนถึงในสัปดาห์นี้
เผอิญท่านนายกฯ เศรษฐา ท่านแถลงรายละเอียดว่า จะเดินหน้า โครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ตามที่หาเสียงไว้ พร้อมกับจะเสนอออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการนี้ ฯลฯ ผมก็เลยต้องเขียนแสดงความคิดเห็นว่าผมไม่อยากให้ดำเนินการโครงการนี้อย่างไร? และมีความห่วงใยในประเด็นใดบ้างไปถึง 2 วันเต็มๆ
บัดนี้ดูเหมือนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มขึ้นมากมาย กลายเป็นข่าวใหญ่ตามมาดังที่ท่านผู้อ่านคงได้อ่านกันแล้ว
ผมก็ขออนุญาตปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกลไกและวิถีทางการเมืองต่อไป...พร้อมกับหันมาเขียนถึงเรื่องราวที่ผมอ่านพบจากข่าวเชิงประชาสัมพันธ์ในมติชนออนไลน์ตามที่ตั้งใจไว้
ข่าวดังกล่าวพาดหัวว่า “นาแปลงใหญ่ : โมเดลสู่ความยั่งยืนยกระดับชีวิตเกษตรกร ตั้งแต่ต้นนํ้าปลายนํ้า”
บรรยายถึงความก้าวหน้าของโครงการ “นาแปลงใหญ่” ซึ่งเป็นโครงการเอกของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีจุดมุ่งหมายในการที่จะชักชวนให้ เกษตรกร มารวมกลุ่มกันเพื่อจัดการทั้งด้านการปลูกหรือการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายหลังปลูกหลังผลิตแล้ว
นั่นก็คือเอานาเล็กๆหลายๆแปลงมารวมเป็นนาผืนใหญ่ขึ้น เวลาผลิตก็สามารถจะใช้เครื่องมือผลิตร่วมกันได้ เช่น รถไถ รถเก็บเกี่ยวข้าว หรือแม้แต่การรวมตัวกันไปซื้อปุ๋ยซื้อพันธุ์ข้าวก็จะใช้เงินน้อยลง เพราะซื้อได้เป็นลอตใหญ่ๆ ราคาย่อมถูกกว่าซื้อลอตเล็กๆอยู่แล้ว
ในการจำหน่ายก็ถือว่ามีพลังต่อรองสูง จะไม่เสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งบ่อยครั้งมีการจับมือกันมาซื้อแบบกดราคา
...
โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการรวมตัวในทุกรูปแบบของเกษตรกรอยู่แล้ว และเขียนให้กำลังใจมาโดยตลอด จึงขอสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่
แต่ที่ผมตั้งใจจะเขียนถึงในวันนี้เป็นเรื่องความหลังส่วนตัวในอดีตของผมอยู่เรื่องหนึ่งครับ...น่าจะประมาณปี 2517 ผมไปอ่านข่าวเจอว่า โสเภณี แถวๆโรงแรมย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า งาน ของเธอหนักมาก จากการถูกหลอกมาประกอบอาชีพนี้
โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีน (ของสมัยโน้น) เธอจะต้องรับแขก ที่ได้เงินแต๊ะเอียแล้วมาเที่ยวโรงแรมวันละ 20-30 ราย โดยเฉพาะวัน “ชิวอิ๊ด” นั้น สูงถึง 30 ราย หรือ 30 ประตูเลยทีเดียว
ผมก็จับประเด็นมาเขียนล้อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า พัฒนากันอย่างไรหนอ เกษตรกรถึงยากจนลงทุกขณะ ต้องจำนองที่นาต้องขายที่นาออกไปบุกรุกถางป่าเพื่อหาที่ทำกินใหม่ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ลูกหลานชาวนาซึ่งพ่อแม่ขายที่นาไปหมดแล้ว ยังต้องกระเสือกกระสนมาขาย “นาแปลงน้อย” ของตนเองอีกด้วย มาทั้ง โดนหลอกลวง แต่ก็มีไม่น้อยที่มาด้วยความสมัครใจเพราะไม่มีทางเลือก
เปรียบเทียบว่าการรับแขกในเทศกาลตรุษจีนของโสเภณีดังกล่าวนั้นคือการทำนา “แปลงน้อย” นั่นเอง
โดยบัญญัติศัพท์ใหม่ “นาแปลงน้อย” ให้หมายถึง ที่ดินผืนเล็กๆ ที่ติดตัวลูกสาวชาวไร่ชาวนาทั่วประเทศมาแต่กำเนิด
ปรากฏว่าถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกว่าเป็น “ไวรัล” ไปเลยครับ เพราะ คำว่า “นาแปลงน้อย” กลายเป็นคำที่ฮิตทั่วประเทศขึ้นมาในชั่วข้ามคืน
โดยเฉพาะ “ลำตัด” ยุคนั้นมีข่าวว่านำไปใช้เป็น “มุก” เรียกเสียงฮาอยู่หลายคณะเลยทีเดียว
ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้เรายังมีปัญหาทำนา “แปลงน้อย” หรือปัญหาโสเภณีอยู่อีกหรือไม่ เพราะดูตัวเลขแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะโรงอาบอบนวด หรือโรงแรมที่เคยมีชื่อเสียงในเรื่องนี้ดูจะหายๆไป
นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านเราก็มาดูมาเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม หรือชมธรรมชาติหาดทราย สายลม แสงแดดของบ้านเรา มิได้มีข่าวว่า มามั่วสุมทางเพศท่าเดียวดังเช่นยุคโน้น
ผมหวังว่าลูกสาวชาวนาชาวไร่ หรือลูกสาวคนยากคนจนยุคนี้ คงไม่มีใครต้องมาทนทุกข์ทรมาน “ทำนาแปลงน้อย” กันอีกแล้วนะครับ
ขอให้คำว่า “นาแปลงน้อย” หายไปจากประเทศไทย และขอให้ “นาแปลงใหญ่” ตามโครงการของกระทรวงเกษตรฯ จงประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ตามที่ตั้งเป้าไว้นะครับ.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม