ช่วงออกพรรษาของทุกปีจะมีการทอดกฐิน พี่หิ่งห้อย เลยขอนำความรู้มาบอกเล่ากับน้องๆ

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า “กฐิน” เป็นประเพณีทำบุญอย่างหนึ่งของไทยซึ่งทำในระยะเวลาที่กำหนด เรียกว่า “กฐินกาล” ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยในปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.–29 พ.ย.

กฐินแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กฐินหลวงและกฐินราษฎร์ โดย กฐินหลวง คือ การทอดกฐินที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง ณ พระอารามหลวง หรือโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง

ส่วน กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่พุทธ ศาสนิกชนทั่วไปร่วมกันนำไปทอดถวาย ณ วัดต่างๆ ในเทศกาลกฐิน จำแนกได้ 2 ประเภท คือ 1.มหากฐิน หมายถึง กฐินใหญ่ มีคณะเจ้าภาพจัดบริวารกฐินเป็นจำนวนมาก ถวายทั้งไทยธรรมและปัจจัย บำรุงการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานภายในวัด นอกจากนี้ ยังมีการถวายสิ่งของต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น และยังรวมถึงการจัดหาสิ่งของบริจาคแก่วัด และ 2.จุลกฐิน แปลว่า กฐินเล็ก คือกฐินที่มีเวลาเตรียมงานน้อย บริวารกฐินน้อย ผู้ร่วมทำจุลกฐินมักทำทุกอย่างด้วยความเร่งรีบทุกขั้นตอน และต้องทอดกฐินให้เสร็จภายใน 1 วัน

นอกจากนี้ ยังมีกฐินที่นำไปทอดถวายยังวัดที่ไม่มีเจ้าภาพจองกฐินจนใกล้จะสิ้นเทศกาลกฐิน เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบก็จะร่วมกันจัดกฐินไปทอดถวายเรียกกฐินประเภทนี้ว่า กฐินตกค้าง หรือ กฐินตก อีกด้วย.