การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก การผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เพียงพอต่อความต้องการและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ล้วนเป็นความท้าทายของนานาประเทศที่ต้องการแก้ปัญหาร่วมกัน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast (QUB) สหราชอาณาจักร จัดตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัยระดับโลก ที่ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน

ล่าสุดยังได้เตรียมจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ASEAN-ASSET 2023 : Global Summit on the Future of Future Food ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต ที่เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่แค่มีอาหารเพียงพอ แต่ต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ

ฉะนั้น การที่ไทยตั้งเป้าจะเป็นครัวของโลกจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เพื่อให้ผลิตได้เพียงพอ ด้วยวิธีที่ปลอดภัย และยั่งยืน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไบโอเทค สวทช. มีความร่วมมือกับ Queen’s University Belfast ที่มีความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารในระดับโลก ในการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางอาหารมายาวนานกว่า 10 ปี โดยในปี 2565 ได้ขยายความร่วมมือสู่การจัดตั้ง

...

ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ มีความรู้ความสามารถพร้อมสำหรับทำงานในภาคอุตสาหกรรม.

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม