2 องค์กร เดินหน้ารักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่วมพัฒนาบุคลากร-ลดปัญหาขาดแคลน ผลักดันไทยสู่เป้าหมายศูนย์กลางดิจิทัลอาเซียน ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญฯ ชี้เหตุไทยถูกจัดอันดับต่ำ แนะปรับกฎหมายให้เท่าทัน-เพิ่มกำลังคน ยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ตัวแทนบริษัทหัวเว่ย กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ แรนซัมแวร์ การโจมตีแบบ DDoS แอปพลิเคชันที่แอบฝังมัลแวร์ ฟิชชิ่ง การโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ การโจมตีช่องโหว่ในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมไปถึงการโจมตีผ่านอุปกรณ์ IoT ต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ ของหัวเว่ย จึงมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ ควบคู่กับการกำจัดข้อสงสัยด้านความมั่นคงปลอดภัย และยกระดับความไว้วางใจ จึงจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนารวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและพันธมิตรในระดับโลก เพื่อขยายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไปทั่วโลก
"ความจริงแล้วภัยไซเบอร์ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจีนมานับสิบปีแล้ว และเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง โดยที่ผ่านมาจีนได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน และมีการบังคับใช้กฎหมายที่ค่อนข้างแรง ควบคู่ไปภาคสังคมที่มีการให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงวัยและเด็ก สำหรับประเทศไทยนั้น ความตื่นตัวทางภัยไซเบอร์ไม่ได้แย่เลย จากการจัดอันดับของ Global Cybersecurity Index อยู่อันดับที่ 44 จาก 180 ประเทศ (ปี 2020) แต่สิ่งที่ไทยได้คะแนนน้อยและต้องปรับตัว คือ กฎหมายไทยที่ต้องปรับให้ทันภัยไซเบอร์ใหม่ๆ และบุคลากรไซเบอร์ที่ยังขาดแคลนอยู่มาก ขณะเดียวกันเชื่อว่า หากมีการจัดอันดับอีกครั้งคะแนนด้านกฎหมายของไทยอาจเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมาย PDPA บังคับใช้แล้ว และมี พ.ร.บ.ไซเบอร์แล้ว" นายสุรชัย กล่าว
...
นายสุรชัย ยังกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับทางการไทยว่า หัวเว่ยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านดิจิทัล และลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมการแข่งขันด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนจำนวนบุคลากรทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย และยังช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นที่นำเข้ามายังประเทศไทยนั้น มีการดำเนินการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) และทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด