“โลกร้อน”...นโยบายประเทศ ไทยไปทางไหน?

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม มองว่า ข้อแรก...จะมีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 หรือ “COP 28”

จัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 12 ธ.ค.นี้ ประเด็นที่สำคัญคือติดตามเร่งรัดการมุ่งหน้าสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ก่อนปี 2030

ข้อถัดมา... “นายกรัฐมนตรีประเทศไทย” แถลงต่อที่ประชุม COP26 กรุงกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อ 1 พ.ย.64 ว่า...ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงิน...เทคโนโลยีอย่างเต็มที่... เท่าเทียมสามารถยกระดับ NDC (แผนปฏิบัติการ) ขึ้นเป็นร้อยละ 40 โดยภาคพลังงานและภาคขนส่งต้องลดให้ได้ 266 ล้านตันจากที่ปล่อยออกมา

...

ภาคอุตสาหกรรมต้องลดให้ได้ 2.25 ล้านตัน ภายในปี 2030... ภาคของเสียต้องลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2.6 ล้านตัน...ส่วนภาคที่ท้าทายอย่างยิ่ง คือภาคการเกษตรต้องลดให้ได้ 1 ล้านตัน

ข้อที่สาม...รายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.8 ของโลก เป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดย “จีน”...ปล่อยมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ “สหรัฐอเมริกา” และสหภาพยุโรป

โดยในปี 2565 ไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉพาะภาคพลังงานอยู่ที่ 247.7 ล้านตันคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5%...จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2559 อยู่ที่ 354 ล้านตันคาร์บอน ขณะที่ป่าไม้ดูดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้เพียงประมาณ 91 ล้านตัน

ข้อที่สี่... “CO2” มาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 38 รองมาคืออุตสาหกรรมและขนส่งร้อยละ 28 และ 27 ตามลำดับ จากการคำนวณโดยองค์การก๊าซเรือนกระจกพบว่าหากจะให้เป็น “Net Zero” ของ “CO2” ในปีดังกล่าว...ภาคพลังงานต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ปีละ 86 ล้านตัน

และ...ป่าไม้ต้องดูด CO2 ให้ได้ปีละ 120 ล้านตันกล่าวคือต้องเพิ่มต้นไม้เพื่อดูด CO2 จากที่มีอยู่แล้วให้ได้ปีละ 29 ล้านตัน...ซึ่งในงานวิจัยพบว่า “ต้นไม้ใหญ่” สามารถดูด CO2 ได้ไม่เกิน 6.09 ตัน CO2 ต่อไร่ต่อปี ดังนั้นจึงต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ 4.7 ล้านไร่ต่อปีทุกปี

ข้อที่ห้า...สำหรับภาคพลังงานต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมดคือต้องใช้ “พลังงานทางเลือก” ให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 และยานพาหนะต้องเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ต้องยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ใช้ก๊าซธรรมชาติน้อยลง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มาก ลดการเกิดขยะหรือนำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลให้มากที่สุด

รวมทั้งต้องไม่ให้เกิดการเผาป่า การเผาในที่โล่งทุกแห่ง ส่วนสภาพแวดล้อมของเมืองต้องทำให้เป็นเมืองสังคมคาร์บอนด์ต่ำ (Low carbon society) ให้มากที่สุด

ข้อที่หก...เมื่อประเทศไทยไปแถลงให้สัญญาต่อนานาชาติแล้วจึงเป็นการผูกมัดที่ต้องทำให้ได้ภายใน 30 ปี...ซึ่งหากดูจากแผนปฏิบัติและการทำงานจริงแล้วในสภาพปัจจุบันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

ทั้งขาดการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งยังมีราคาแพงมาก (คันละเกือบ 2 ล้านบาท) และสถานีเติมไฟระหว่างทางมีน้อย, ถ่านหินยังเป็นสินค้าราคาถูกที่รัฐบาลยังส่งเสริมให้ใช้อยู่, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก

รวมทั้ง “รัฐ” ยังส่งเสริมการกำจัด “ขยะ” ที่ปลายทางทั้งการเผาและฝังมากกว่าการจัดการที่ต้นทาง เช่น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทางเพียงแค่ขอความร่วมมือ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการนำเข้า “ขยะพลาสติก” จากต่างประเทศเพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “เศษพลาสติก” แทน เป็นต้น....

...

ตอกย้ำ “ประเทศไทย” กับการคว้าสถิติผลิตขยะพลาสติกอยู่ในอันดับ 12 ของโลก และทิ้งลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ประเด็นนี้ อาจารย์สนธิ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ไว้ว่า หากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.ได้มีมติ “แบน” พลาสติก 4 ชนิด และต้องไม่มีใช้ในปี 2565

ประกอบด้วย 1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมกันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม) 3.แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน 4.หลอดพลาสติกทั้งหมด (ยกเว้นในการใช้กับคนชราและคนป่วยเท่านั้น)

“หมายความว่าในปี 2565 ต้องไม่มีใช้...แต่ทุกวันนี้ จะสิ้นปี 2566 อยู่แล้ว เรายังเห็นใช้กันเป็นปกติ...สิ่งที่เกิดขึ้นคือมติ ครม.ที่ไร้ประสิทธิภาพ หาเจ้าภาพในการทำงานไม่ได้ สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษทำคือการดูแลว่าผลดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่คนที่จะบังคับใช้เรื่องนี้กลับไม่มี”

ดังนั้นเราจึงเห็นว่า...ตามตลาด ร้านค้า โดยเฉพาะตลาดปลายังใช้กันหมด...สิ่งที่เกิดขึ้นตามห้างใหญ่ๆไม่มีการแจกถุงพลาสติก แต่มีการขายในราคาแตกต่างกัน

...

หากเป็นในต่างประเทศไม่สามารถทำแบบนั้นได้ หากมีเขาจะเก็บภาษีเพิ่ม...หมายความว่าหากห้างไหนให้ถุงพลาสติกที่ “รีไซเคิล” ไม่ได้ แบบ “ใช้แล้วทิ้ง” ต้องจ่ายภาษี ยกตัวอย่างในยุโรป พลาสติก 0.8 ยูโรต่อพลาสติก 1 กก.

ด้วยเหตุนี้สินค้าที่จะไปขายในยุโรปได้ หากมีพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% ดังนั้นเขาจึงไม่ใช้พลาสติกแบบ Single-use ถ้าจำเป็นต้องแจกถุง เขาจะให้ถุงกระดาษ หรือถุงที่สามารถย่อยสลายได้

หากจะพูดกันตรงๆสาเหตุที่ “ไทย” กับ “ยุโรป” มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เพราะประเทศไทยเลือกใช้วิธีการ “ขอความร่วมมือ” แต่ยุโรป คือ “กฎหมาย”

การที่ไทยใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” จึงกลายเป็นช่องโหว่ ร้านค้าปลีกยักษ์ หรือห้างก็สบายๆเลย เรียกว่า...ให้ความร่วมมือลดจ่ายถุงพลาสติกกลายเป็น “ลดค่าใช้จ่าย” ไปด้วย แถมขายได้อีกกลายเป็นคำถามว่า “เอื้อประโยชน์” ให้กับเหล่าห้างหรือไม่...”

สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการออกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว คือต้อง “ไม่ผลิต” ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเลย หรือเปิดทางเลือกคือให้ผลิต แต่ต้องเสียภาษีมากขึ้น

...

“ถึงแม้ว่าต้นทุนถุงพลาสติกย่อยสลายได้มีราคาแพงกว่าก็จริง... แต่ภาครัฐก็ต้องหาวิธีการจูงใจ ประเด็นปัญหาคือรัฐบาลส่งเสริมหรือไม่ คือมีมติ (ครม.) แต่ไม่มีมาตรการที่ชัดเจน มันเลยทำไม่ได้”

“ประเทศไทย” ต้องจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เริ่มจากตั้งคณะกรรมการให้ชัดเจนมีเจ้าภาพ ทุกวันนี้เรายังเห็น...โฟม ถุงบรรจุอาหารเต็มบ้านเต็มเมือง ทางออกของเรื่องนี้คือต้องไม่ผลิต ใครผลิตต้องจ่าย “ภาษีมหาศาล”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม