พลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษาเพื่อให้ “มหาวิทยาลัย” มีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมากว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 ในการนำร่องสร้างความเข้าใจในบทบาทการดำเนินงานในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการพลิกโฉมฯจะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปเต็มรูปแบบในปี 2567

...

โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยได้แบ่งกลุ่มความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่มและให้มหาวิทยาลัยเลือกลงกลุ่มเองตามความสมัครใจ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก มี 17 แห่ง กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 19 แห่ง กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 48 แห่ง กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 2 แห่ง และ กลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ 18 แห่ง

ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล
ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล

“กว่า 2 ปีที่ผ่านมา การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยทำให้มหาวิทยาลัยมีการทำงานหรือการสร้างผลงานที่แตกต่างไปจากเดิม มีโฟกัสชัดเจนขึ้นทั้งการสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสร้างสรรค์ผลงานวิจัย รวมถึงการขับเคลื่อนการทำงานของสถาบันที่ไม่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และมีจุดดึงดูดให้บุคลากรหรือผลงานมีการนำไปใช้ประโยชน์ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้จริง หลายมหาวิทยาลัยลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามาเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในงานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว อาหาร เป็นต้น เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่า สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ โดยอาศัย Soft power เป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสร้างความพร้อมในเรื่องบุคลากร” ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกล่าวถึงความคืบหน้าในการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

ศ.ดร.พีระพงศ์ ได้ฉายภาพตัวอย่างความสำเร็จของโครง การพลิกโฉมฯที่ทำให้มหาวิทยาลัยสร้างผลงานที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญโดย กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก เกิดการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ประมาณ 120 คนในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ม.เกษตรศาสตร์ ทำเรื่องการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขั้นสูงของกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้านเกษตรและป่าไม้ ม.มหิดล ทำโครงการ Visiting Professor สาขา Biologics และ Drug Discovery ม.เชียงใหม่ ทำเรื่อง PM 2.5 and other Pollutants Related NCDs from Field-to-Cell-to-Bedside (FCB) ม.ศิลปากร ขับเคลื่อนบูรณาการศาสตร์และศิลป์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ม.เทคโนโลยีสุรนารี ทำเรื่องการใช้องค์ความรู้แนวหน้าด้านจุลินทรีย์ต่อการ ผลิตพืช ผลิตสัตว์ อาหาร และสารชีวภาพ เป็นต้น

...

กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ม.เทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่งเปิดให้มีการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยพร้อมทำเรื่องระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ปลดล็อกข้อจำกัดเดิมๆ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้ระบบได้รับการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ ม.แม่โจ้ ช่วยยกระดับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกิดหลักสูตรการพัฒนากำลังคนและผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศทางด้านวิชาการเกษตร มทร.อีสาน และ ม.เชียงใหม่ นำความเป็นอีสานและเหนือร่วมกันพัฒนาข้าวสายพันธุ์ต่างๆ พัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมถึงกัญชง กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น มรภ.มหา สารคาม จัดตั้ง “หมู่บ้านราชภัฏ” ได้กว่า 17 ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง เป็นต้น

ส่วนกลุ่ม 4 และ 5 อยู่ระหว่างติดตามผลการดำเนินงาน

...

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี

ที่สำคัญผลของโครงการพลิกโฉมฯ ยังสามารถผลักดันให้มหาวิทยาลัยเริ่มมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ดังจะเห็นได้จากการประกาศรายชื่อ The Impact Ranking 2022 ที่เป็นการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกที่สะท้อนแนวคิดของ UN’s SDGs ซึ่งมีรายชื่อมหา วิทยาลัยจากไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 52 แห่งจากเดิมในปี 2021 ที่มีอยู่เพียง 25 แห่งเท่านั้น

ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว.กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินการต่อไป ว่า อว.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวม 4 ฉบับที่จะเป็นกลไกสำคัญในการปรับบทบาทของระบบการอุดม ศึกษาสู่ระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ นำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย

...

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า ถ้าสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละกลุ่มสามารถสร้างความเป็นเลิศตามความเชี่ยวชาญได้ย่อมจะนำมาซึ่งประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาและนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

แต่สิ่งที่เราขอฝากคือ ทิศทางและศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องชัดเจนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก

เพื่อให้การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยตอบโจทย์การนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงและยั่งยืน.

ทีมข่าวอุดมศึกษา

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่