ช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ส่งผลให้ผลผลิตสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย เนื่องจากรอบระยะเวลาการเลี้ยงสัตว์น้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล เสียโอกาสในการสร้างรายได้ตามที่ควรจะได้รับและขาดแคลนอาหารเพื่อการบริโภคในขณะประสบอุทกภัย
ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการประมง (ศปภ.ปม.) สำรวจความเสียหายด้านการประมง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) พบพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 148 อำเภอ 35 จังหวัด รวมพื้นที่ความเสียหายกว่า 14,673.40 ไร่ มีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 9,667 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 118,556,556 บาท
นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง แจ้งว่า กรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1.กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
2.ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือ ร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
3.สัตว์น้ำตามข้อ 1 และข้อ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท
...
เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด และศูนย์ฯประมงทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง โทร.0-2558-0218 หรือ 0-2561-4740.
สะ-เล-เต
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม