เมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566 การดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในฐานะ “หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกประเด็นสำคัญน่าสนใจ
ข้อสอบสวนกล่าวถึง...กรณีไม่ปฏิบัติงานด้วยความรัดกุม จึงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการบริหารงานและเกิดความเสียหายทั้งในระบบระดับประเทศกับเครือข่ายเฝ้าระวัง “โรคอุบัติใหม่”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ หรือ “หมอดื้อ” เล่าให้ฟังว่า ครั้งนี้บอกตรงๆว่า ตอนแรกก็ไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ก็มาคิดออกเพราะว่ามีเงื่อนปมมาก่อน...แล้วก่อนหน้าวันสอบสองวันก็รู้ว่าจะสอบเรื่อง “การยุติการสำรวจไวรัสในค้างคาว”
ประเด็นที่สอบต้องการสอบว่าเราทำลายไป...เราเป็นเจ้าของโครงการ? เรามีสิทธิ์ที่จะทำลายหรือ? แน่นอนว่าเงื่อนปมสอบสวนข้างต้นนี้นั้นนำมาซึ่งประเด็นที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกตามมา
หากยังพอจะจำกันได้ ราวเดือนเมษายนปีนี้เอง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ในฐานะหัวหน้า “ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” ได้ประกาศยุติการศึกษา “wildlife surveillance”...การเฝ้าระวังสัตว์ป่าทั้งหมด เนื่องจากอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
...
สืบเนื่องมาจาก...การสืบค้น เปิดโปง การวิจัย พัฒนา เชื้อจากค้างคาว จนเป็น “โควิด”
ข้อสรุปต้องยุติการเข้าไปสำรวจค้างคาว เพื่อจะหาไวรัสตัวแปลกๆและนำมาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อที่จะทำให้เข้ามนุษย์และเกิดโรคในมนุษย์ได้
เหตุผลก็คือ...มีความเสี่ยงอย่างสูงสุดที่จะก่อให้เกิดอันตราย ตั้งแต่การที่เข้าไปสำรวจค้างคาวในพื้นที่ในป่า เพราะเป็นการนำเชื้อ จากค้างคาวเข้ามาติดให้มนุษย์ นอกจากนั้นยังเป็นการนำเชื้อไวรัสจากมนุษย์เข้าไปสู่ค้างคาวและประกอบร่างใหม่เป็นไวรัสชนิดใหม่ (reverse zoonosis)
หลังจากนั้นความเสี่ยงของอันตรายที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่สำรวจเข้ามาในห้องปฏิบัติการ ทำให้ยังมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อจะเล็ดลอดออกไปจากห้องปฏิบัติการติดคนทำงานอีกต่อ
และ...เกิดการระบาดในชุมชนต่อไป
ตัวอย่างของอันตราย เช่น การเข้าไปทัศนาจรในถ้ำค้างคาวในแอฟริกาทำให้มีการติดไวรัสในตระกูลอีโบล่า คือ “ไวรัสมาร์บูร์ก” นำกลับไปยังประเทศอเมริกาและเนเธอร์แลนด์
การอ้างว่าเข้าไปสำรวจค้างคาว เพื่อหาไวรัสแปลกใหม่และมาปรับปรุง ให้มีความรุนแรงมากขึ้นเพื่อให้เข้ามนุษย์ เพื่อที่จะได้วางแผนทำนายว่าจะมีโรคอุบัติใหม่ทั่วโลกตัวต่อไปคืออะไรไม่เคยประสบความสำเร็จ และที่อ้างว่าเพื่อเป็นการสร้างวัคซีนล่วงหน้าในอนาคตไม่เป็นความจริง
ในขณะที่ยังเป็นที่สงสัยว่า “วัคซีนโควิด” มีการจดสิทธิบัตร ก่อนการระบาดโควิด
ประเด็นสำคัญมีว่า...หลังจากที่มีการระบาดของโควิด มีการสืบสวนถึงต้นตอของโควิดจากการสอบสวนของรัฐสภาสหรัฐฯ จน กระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2023 นั้น พบว่า...มีการปกปิดข้อมูลและมีการบิดเบือนว่าไม่มีการตัดต่อพันธุกรรมและยืนยันว่าโควิดนั้นเกิดจากธรรมชาติ
“การให้ถ้อยคำในการสอบสวนครั้งนี้ หลักฐานเราก็แน่นมากบวกกับเป็นคนวงในเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเราได้ทุนจากสหรัฐฯในการวิจัย ขณะเดียวกัน เขาก็บอกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการ มีบุคคลหนึ่งที่เป็นเจ้าของตัวจริง...เราก็เอาหลักฐานมาชี้แจง การให้ทุนผ่านตรงมายังองค์กรไม่ได้ผ่านตัวบุคคล เฉพาะคนใดคนหนึ่ง”
“หมอดื้อ” ในฐานะผู้รับผิดชอบองค์กร ตรวจสอบดูแล้วในใบสรุปเอกสารทั้งหลายก็ชัดเจนว่าระบุชื่อองค์กร ประธานกรรมการก็ระแวดระวังก็เช็กแล้วว่าทุกโครงการไม่มีการระบุชื่อคนใดคนหนึ่ง เป็นขององค์กรเท่านั้นเอง ก็เลยมีบทสรุปตรงกัน จำนนด้วยหลักฐานเอกสารที่ชัดเจน
ประการต่อมาเรื่องการทำลายตัวอย่างในงานวิจัยได้ชี้แจงกันตรงๆไปว่า...
“ในเมื่อเราเป็นเจ้าของตัวอย่าง กระบวนการเสร็จสิ้นไปแล้ว ทาง สหรัฐฯปิดโครงการไปเรียบร้อย เราก็ไม่มีตัวอย่างที่เก็บเอาไว้...ประเด็นกลัวว่าเขาจะมาฟ้อง ความจริงที่เกิดขึ้นสหรัฐฯเองก็ยังมาถามว่า จะทำต่อไหม ก็ตอบกลับไปว่า...เราไม่ทำ แล้วเราทำลายไปแล้ว ก็ไม่เห็นว่าอะไรเลย สรุปว่าหลักฐานเราแน่นมาก”
...
สิ่งสำคัญที่ฝ่ายสอบสวนอาจจะไม่รู้ก็คือ “ตอนนี้ทั้งโลกตั้งแต่ เดือนกันยายนยุติการให้ทุนและการแสวงหาไวรัสประหลาดๆแล้ว ขณะนี้เขาห้ามแล้ว ก็เลยบอกว่า...เพราะฉะนั้นเองถ้าบอกว่าจะฟ้องคนที่ทำลายและจะเอาตัวอย่างนี้ไปทำอีก เท่ากับว่าคุณกำลังละเมิด สิ่งที่คนทั้งโลกกลัว”
อีกทั้งถ้าประกาศว่า...มีการทำอีกแล้วสมมติว่าเกิดโรคระบาดในเมืองไทย หรือเกิดโรคระบาดในต่างประเทศโดยสืบสวนแล้วเกิดพบว่าไวรัสนั้นมาจากประเทศไทย...ส่งไปที่อู่ฮั่น หรือส่งไปที่สิงคโปร์...ตัดต่อพันธุกรรมแล้วไปเกิดโรคในประเทศอื่น?
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเรา...จุฬาฯ กาชาดฯเองจะเป็นเหมือนฆาตกร ต้องรับผิดชอบ” ถึงตรงนี้หากจะถามว่าเราจะต้องทำไงต่อ เรื่องนี้จะต้องรายงานกระทรวงสาธารณสุขไหม หรืออย่างไร? หมอดื้อ บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากจะต้องรายงานไปถึงรัฐบาลให้รับรู้ว่ายังมีหลายสถาบันหรือไม่ที่ทำเช่นนี้ จะได้ตรวจสอบเต็มที่
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีกรณีที่มีข่าวจุฬาฯ กาชาดฯไปรับเงิน 70 ล้านบาท จาก CDC ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ...ก็ต้องดูรายละเอียดให้ดี ต้องไม่มีการไปหาไวรัสในค้างคาวหรือตัดต่อพันธุกรรมเลยเพราะเป็นของต้องห้าม ในกรณีนี้ถ้าหากว่าต่างชาติเกิดหมกเม็ดใต้โต๊ะอยากที่จะทำต่อไป แล้วให้คนไทยทำ....
...
หรือ...จะให้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติมาฝังตัวทำก็ตามที แต่หากว่ามีคนจับได้เมื่อไหร่เขาจะไม่รับ เพราะไม่อยู่ในสัญญาที่ให้ทำ สิ่งที่ตามมาเราจะเสียชื่อหนักมาก ทั้งยังต้องรับผิดชอบตามสัญญาอย่างเต็มที่
“เวลาที่จะรับทุน จึงไม่ใช่แค่ว่าชื่นชม ชื่นใจ...ที่หาเงินมาได้ ได้ชื่อเสียง แต่ต้องมอนิเตอร์ด้วยว่าเวลาได้ทุนนี้ไปแล้วมีใครหมกเม็ดแล้วทำอะไรต่อหรือเปล่า ต้องรู้ว่าคนที่อยู่ในคณะแพทย์และกาชาดฯเอาไปทำอะไรต่อหรือเปล่าด้วย มิหนำซ้ำยังไปขอตัวอย่างที่อันตรายอีก”
แล้วมาหาเรื่องว่าไปทำให้เสียประโยชน์การวิจัย ย้ำว่า...นานาชาติห้ามการวิจัยในเชื้อไวรัสประหลาดๆแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เป็นเหตุเป็นผล...ทั้งๆที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2020 มากกว่า 300 ล้านบาท ทำไมเราถึง “เลิก” และ “ยุติ” การค้นหาไวรัสจากค้างคาวและสัตว์ป่า
คำตอบสั้นๆเข้าใจง่าย คือ พิสูจน์ได้ว่าไม่เกิดประโยชน์, อันตรายรอบตัวที่เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสัตว์ นำสิ่งคัดหลั่งกลับมาห้องปฏิบัติการ, โอกาสนำไปสู่การติดเชื้อในมนุษย์และแพร่ออกไปยังชุมชน
กระนั้นแล้วเกี่ยวกับการสืบสวนในเรื่องนี้ก็ หลายๆคนที่ติดตามอยากให้เฝ้าจับตาดูกันต่อไปยาวๆว่าจะมีกระแสกดดัน พลิกผันอะไรอีกหรือไม่ ครั้งนี้อาจเป็นแค่การเปิดฉากขจัดขวากหนามหัวหอกสำคัญในตัวนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญไวรัส...“โรคอุบัติใหม่” หากแต่ยังมีคลื่นใต้น้ำอีกมากรออยู่.
...
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม