ทันทีที่ลมหนาวโชยเข้ามาปกคลุม “ประเทศไทย” ก็ต้องเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 นับวันยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงโดยเฉพาะ “พื้นที่ภาคเหนือ” ที่เป็นช่วงของสภาวะอากาศแห้งแล้งกลายเป็น “ฤดูไฟป่า และฝุ่นควัน” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนตั้งแต่เดือน ธ.ค.-เม.ย.เป็นต้นไปของทุกปี

ตามข้อมูล “กรมควบคุมมลพิษ” ถ้าย้อนดูเพียงระยะเริ่มต้นของฤดูไฟป่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2566 ปรากฏพบจุดความร้อนเกิดขึ้น 18,988 จุดในภาคเหนือ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118% จากปีก่อน “ยิ่งเข้าสู่เดือน มี.ค. มลพิษทางอากาศ” ก็เริ่มไต่ระดับขึ้นเกินขีดจำกัดความปลอดภัยต่อสุขภาพ 1-10 เท่าขึ้นไป

ความเข้มข้นสูงสุดถูกบันทึกไว้อยู่ที่ 537 µg/m³ (มคก./ลบ.ม.) วันที่ 27 มี.ค.2566 ในเขตพื้นที่ อ.แม่สาย ชายแดน จ.เชียงราย ซึ่งมากกว่าระดับมาตรฐานปลอดภัยที่ WHO แนะนำไว้ถึง 35 เท่า

เมื่อสิ้นสุด “ฤดูไฟป่า” ความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชม.ในภาคเหนืออยู่ที่ 63 มคก./ลบ.ม.เพิ่มขึ้น 110% จาก 30 มคก./ลบ.ม.ของปีที่แล้วจำนวนวันที่มี PM2.5 เกินขีดจำกัดปลอดภัย 112 วันเพิ่มขึ้น 60% จาก 70 วันของปีที่แล้ว

...

ภาพรวมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง “มีจุดความร้อนสะสม 9.9 แสนจุด” โดยเมียนมามากสุด 4.1 แสนจุด สปป.ลาว 2.5 แสนจุด กัมพูชา 1.1 แสนจุด เวียดนาม 4.4 หมื่นจุด ส่วนไทย 1.6 แสนจุดเพิ่มขึ้น 103% จากปีก่อน

สาเหตุเกือบทั้งหมด “เกิดจากมนุษย์” ที่ใช้ประโยชน์จากป่า และพื้นที่การเกษตรในป่าดำรงชีพในวิถีเกษตรคนท้องถิ่น ทั้งการเผาขยายพื้นที่เพาะปลูกในป่า การกำจัดซากพืชในไร่ การเปิดพื้นที่ป่าเพื่อปศุสัตว์ และการล่าสัตว์ หรือเก็บหาของป่า อันเป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 ที่จัดเป็นสารขนาดเล็กเล็ดลอดเข้าถึงปอด กระแสเลือด

สร้างปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ “ก่อให้เกิดโรคมะเร็งระยะยาว” ในการนี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 นำมาสู่เวที “ถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย” โดย พันศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า

หากย้อนดูสถิติ 4 ปีก่อนจะเห็นภาพรวม “ฝุ่น PM2.5” มักเกิดขึ้นซ้ำซากตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเดือน พ.ค.-ต.ค. “ปริมาณฝุ่นจะลดลง” แล้วเริ่มไล่ระดับขึ้นอีกในเดือน ต.ค.ของทุกปี

กระทั่งวันที่ 1 มิ.ย.2566 “ประเทศไทย” ประกาศใช้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่จาก 50 มคก./ลบ.ม.เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. ถ้าแยกย่อยจะเห็นความต่างเล็กน้อย เช่น กทม. ฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นเดือน พ.ย.-มี.ค.สังเกตจากกลางเดือน ต.ค.2566 “เริ่มเห็นค่าฝุ่นเป็นสีส้ม” แล้วส่วนใหญ่มักรุนแรงสูงสุดในช่วงเดือน ก.พ.

ถัดมา “ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)” เริ่มเดือน ม.ค.-พ.ค. “ภาคใต้” มักจะมีปัญหาในเดือน ก.ค.-ต.ค. แต่ถ้าดูสถิติปี 2564 ถึงปัจจุบัน “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” จะเห็นว่าในปี 2566 “ปัญหาฝุ่นค่อนข้างรุนแรง 148%” แต่ก็ไม่หนักเท่าปี 2564 นั้นแปลว่ามาตรการป้องกันที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

ถ้ามาดู “ภาคเหนือ 17 จังหวัด” ตั้งแต่ 2564 ถึงปัจจุบัน ปริมาณฝุ่นในปี 2566 ค่อนข้างสูงถึง 256% รุนแรงกว่าปี 2564-2565 สะท้อนว่ามาตรการป้องกันที่ทำอยู่นี้เอาไม่อยู่ และการดำเนินการก็ยังไม่เพียงพอ

สำหรับปัจจัยมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก...“ปัจจัยควบคุมได้” ล้วนมักเกิดจากฝีมือมนุษย์แต่สามารถควบคุมได้ “ด้วยมาตรการที่กำหนดไว้” ตามภาพดาวเทียมตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2566 “ภาคเหนือตอนบน” มีปัญหาจากไฟป่า 93% “ภาคเหนือตอนล่าง” เป็นการเผาวัสดุการเกษตร 27%

ส่วน “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” เกิดจากการจราจร อุตสาหกรรม หมอกควันข้ามแดน “ภาคกลาง ภาคตะวันตก และอีสาน” มักเผาเศษวัสดุการเกษตรเผาริมทาง “ภาคใต้” มาจากการเผาป่าพรุ หมอกควันข้ามแดน

ต่อมา...“ปัจจัยควบคุมไม่ได้” เช่น ด้านอุตุนิยมวิทยาจากความกดอากาศสูงทางตอนเหนือปกคลุมไทย ทำให้เพดานการลอยตัวอากาศต่ำลง “PM2.5 ที่เกิดประจำ” ไม่อาจลอยตัวระบายได้เกิดการสะสมเกินมาตรฐาน

เหตุนี้นำมาสู่ “การปรับปรุงค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่” จากเดิม 50 มคก./ลบ.ม.เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม.พร้อมปรับดัชนีคำเตือนผลกระทบต่อสุขภาพระดับสีแดงจากเดิมค่า AQI 91 เป็น 75.1 มคก./ลบ.ม.

...

อันมีเป้าหมาย “ยกระดับมาตรการปี 2567” ตั้งแต่กำหนดงบประมาณ กลไกแก้ไขปัญหา การเจรจาในระดับภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับหมอกควันข้ามแดน และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

ด้วยการกำหนดพื้นที่เจาะจง “10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน และพื้นที่เกษตรเผาไหม้” ที่มีพื้นที่เผาไหม้ 6.5 ล้านไร่ แล้วในปี 2567 ต้องดำเนินตามมาตรการแก้ไข PM2.5 ให้ลดลง 50% ส่วนพื้นที่รองอย่างเช่นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนอื่น ต้องลดการเผาลง 20% พื้นที่เกษตรกรรม 10% และควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เมือง

หากทำได้ “PM2.5” ในภาคเหนือ 17 จังหวัดจะลดลงค่าเฉลี่ย 40% วันเกินมาตรฐานจะลดลง 30% กรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลง 20% วันเกินมาตรฐานลดลง 5% ภาคอีสานจะลดลง 10% วันเกินมาตรฐานจะลดลง 5%

สิ่งที่กล่าวมานั้นต้องได้รับการลงทุน และสนับสนุนจากรัฐบาลในการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณที่เพียงพอ ควบคู่กับการร่วมทุนของภาคเอกชนที่อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 200% เพื่อให้คุณภาพชีวิตแก่ประชาชน และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น อันจะนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการฟื้นฟูเยียวยา

...

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด และ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) บอกว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสารอันตรายมักนำพาโลหะหนัก และสารเคมีการเกษตรก่อมะเร็งระยะยาวจน “รัฐบาล” ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562

จริงๆแล้ว “ฝุ่นพิษ PM2.5” เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น “บนยอดภูเขาน้ำแข็ง” สะท้อนปัญหาเชิงระบบโครงสร้างที่ต้องแก้ไข 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.ระบบการทำงานการบริหารของภาครัฐ ตั้งแต่ระบบแผน ระบบงบประมาณ กลไก การทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวง และปัญหาข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของรัฐ

ในส่วนที่ 2.ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยปัญหาฝุ่นพิษนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงทรัพยากร หรือการเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน ทรัพยากรในป่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงด้านสิทธิในที่ดินทำกิน” แล้วสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามแก้ไขอยู่ตอนนี้ที่ดูน่าจะมาถูกทางด้วยซ้ำ

ข้อ 3.ต้องแก้ปัญหาการกำกับระบบตลาดเสรี โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่มีการปล่อยให้ข้าวโพดเกิดการขยายขึ้นไปบนพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่สูง และเข้าไปในพื้นที่ป่า “อันเป็นความล้มเหลวของกลไกตลาดที่ไม่มีกฎกติกาเข้ามากำกับ” ดังนั้นการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จำเป็นต้องแก้ปมตอบโจทย์ 3 ประเด็นนี้ให้ได้

...

ย้ำดูสถานการณ์ปัญหาต้นปี 2566 “พื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 9,811,805 ไร่” เป็นป่าเผาไหม้ 6.3 ล้านไร่ จำนวนนี้มีป่าอนุรักษ์ที่มีไฟป่ามากสุด คืออุทยานแห่งชาติ (อช.) ศรีน่าน อช.เขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) แม่ตื่น อช.สาละวิน ขสป.สาละวิน ขสป.ลุ่มน้ำปาย ขสป.แม่จริม ขสป.สลักพระ อช.ถ้ำผาไท อช.แม่ปิง

แล้วในจำนวน 10 แห่งนี้มีงบประมาณทำแนวกันไฟ 9.3 ล้านบาท จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ต้องดูแล 7.1 ล้านไร่ มีเครื่องเป่าลมดับไฟ 37 เครื่อง เรือ 1 ลำ เจ้าหน้าที่รัฐ 14 นาย พนักงานของรัฐ 6 นาย ลูกจ้างประจำ 59 นาย สะท้อนให้เห็นปัญหาโครงสร้างนำมาสู่ป่าถูกเผาไหม้ไป 3.3 ล้านไร่ คิดเป็น 46% ของป่าอนุรักษ์ 10 พื้นที่นี้

ทำให้ต้นทุนผลกระทบการปลูกป่าคืน 3.3 ล้านไร่ คูณ 11,690 บาท/ไร่ “นั้นแปลว่าต้นปี 2566 สูญเสียต้นทุนแล้ว 3.8 หมื่นล้านบาท” ที่ยังไม่รวมผลกระทบด้านการท่องเที่ยว หรือบุคลากรต้องสูญเสียไป

ไม่เท่านั้นยังมีพื้นปลูกข้าวโพด และไร่หมุนเวียนอันเป็นพื้นที่เผาไหม้ 1.4 ล้านไร่ นาข้าว 1 ล้านไร่ เกษตรอื่น 6.3 แสนไร่ อ้อย 2.1 แสนไร่ และพื้นที่อื่น 1 แสนไร่

นี่คือสถานการณ์พื้นที่เผาไหม้ปี 2566 “ต้นเหตุของมลพิษฝุ่น PM2.5” ที่สะท้อนถูกถอดบทเรียน และค้นหาแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาในปี 2567 เพื่อให้มีอากาศสะอาดร่วมกันในอนาคต.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม