ในช่วงนี้กระแสการโกงเงินผ่านออนไลน์กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง “นับแต่นักเรียน ม.6 ใน จ.นครศรีธรรมราช” ถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกโอนเงินซื้อโทรศัพท์มือถือในระบบผ่อนจ่ายกับร้านค้าออนไลน์ไปเกือบ 20,000 บาท แต่กลับไม่ได้โทรศัพท์จนเครียดคิดสั้นฆ่าตัวตาย
แต่การหลอกลวงผ่านออนไลน์นี้ “ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะนักเรียน ม.6 เท่านั้น” ถ้าหากมาดูข้อมูลสถิติ สนง.คกก.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565-30 มิ.ย.2566 มีผู้ถูกหลอกลวงแล้วจำนวน 2.8 แสนกรณี มูลค่าความเสียหาย 3.9 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 88 ล้านบาท
สำหรับภัยออนไลน์พบมากสูงที่สุด คือ 1.คดีหลอกลวงซื้อสินค้า 5.1 หมื่นกว่าเรื่อง 2.คดีหลอกโอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม 2.2 หมื่นเรื่อง 3.คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 1.8 หมื่นเรื่อง 4.คดีหลอกให้ลงทุนที่ไม่เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน 1.4 หมื่นเรื่อง 5.คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 1.2 หมื่นเรื่อง
แม้ที่ผ่านมารูปแบบการหลอกลวงจะถูกออกข่าวเตือนภัยมาตลอด แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อจากสาเหตุใด พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เล่าว่า
...
เรื่องนี้เป็นปัญหาเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างเช่นในปี 2021 “พลเมืองสหรัฐฯ” ตกเป็นเหยื่อเสียหายกว่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2022 เสียหายพุ่งขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สาเหตุตัวเลขสูงขึ้นส่วนหนึ่งเพราะในช่วงหลังมานี้ “คนรวยตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้ลงทุนเยอะขึ้น” ด้วยมิจฉาชีพมักเสนอการลงทุนได้ผลตอบแทนสูงๆ
เช่นเดียวกับ “ประเทศไทย” ตัวเลขผู้ถูกหลอกสูงขึ้นทุกปี “บางกรณีนำมาสู่การสูญเสีย” ด้วยต้องกู้หนี้ยืนสินมาลงทุนแล้วเมื่อถูกหลอกมักกลัวจะหาเงินมาชดใช้ไม่ได้ หรือบางคนกลัวสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว
กลายเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ “คนไทยตัดสินใจฆ่าตัวตายมากขึ้นเรื่อยๆ” ตามข้อมูลกรณีนักเรียน 19 ปี น่าจะเป็นรายที่ 12 ของประเทศไทยต้องมาสังเวยชีวิตจากการถูกหลอกลวงผ่านออนไลน์จนต้องเสียเงินเสียทองนี้
ส่วนหนึ่งมาจาก “คนไทยใช้แอปโมบายแบงกิ้ง โทรศัพท์มือถือและเล่นโซเชียลฯเฉลี่ยวันละ 9 ชม.” ทำให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางหลอกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการหลอกซื้อของแต่ไม่ได้สินค้า แล้วถ้ามองในแง่ “ผู้เสียหายน้อยแต่มูลค่าเสียหายสูง” มักเป็นการหลอกให้ลงทุน หลอกทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแอปพลิเคชัน
ทั้งยังมีแอปดูดเงินที่หลอกให้กดลิงก์แล้วคนร้ายจะดูดออกจากบัญชีจนหมด รวมถึงไฮบริดสแกมพูดคุยชู้สาวผ่านแชตชวนให้ลงทุนแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันปลอมส่งลิงก์มาให้เหยื่อสมัคร แล้วขอนำเงินออกระบบอ้างว่า “ต้องโอนค่าธรรมเนียมหรือภาษีเข้าระบบ” เมื่อเหยื่อโอนเข้าก็จะนำเงินออกจากระบบไม่ได้
“เรื่องนี้ได้ไปร่วมประชุมที่สิงคโปร์พบว่า ประเทศในอาเซียนกำลังเผชิญอาชญากรรมทางไซเบอร์ใกล้เคียงกันเพียงแต่ประเทศไทยมียอดฆ่าตัวตายจากการถูกหลอกบนโลกโซเชียลฯ 12 ราย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านไม่ปรากฏพบการสูญเสียร้ายแรง เว้นผู้เกษียณราชการถูกหลอกนำเงินมาลงทุนจนหมดตัวเกิดมากขึ้น” พล.อ.ต.อมร ว่า
ถัดมาแหล่งกบดาน “คนร้ายใช้เป็นฐานก่อเหตุนั้น” ในเรื่องนี้กรณีคนร้ายอาศัยในประเทศไทย “มักเป็นเครือข่ายขนาดเล็ก” ที่เรียนรูปวิธีการหลอกจากอินเตอร์เน็ต และสร้างเรื่องขึ้นมาหลอกประชาชนให้โอนเงินผ่านบัญชีม้าหลายบัญชี โอนเงินส่งต่อกันเป็นทอดๆเพื่อป้องกันตัวเองถูกตรวจสอบจับกุมหรือการถูกอายัดเงิน
ถ้าเป็น “องค์กรขนาดใหญ่หนุนหลัง” คนร้ายก่อเหตุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “มีรูปแบบหลอกหลายคนในวันเดียว” อันมีดัชนีชี้วัด KPI กำหนดให้ได้เท่าใดในการหลอกข้ามประเทศ เช่น “ไทย” คนร้ายมักอาศัยในประเทศซีกขวาของไทยเป็นฐาน “มาเลเซีย” คนร้ายมีฐานในประเทศทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเรา
ดังนั้น มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ก่อเหตุได้ไม่จำกัดว่า “คนไทย หรือต่างชาติ” เพราะกระบวนการสามารถทำได้หลากหลายตามที่ได้ฟังคลิปเสียงการสอบปากคำ “คนไทยทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน” มีการแบ่งงานตามประสบการณ์และความสามารถ เริ่มจากกลุ่มสร้างเรื่องราวโทรศัพท์หาประชาชน
...
ถ้าเหยื่อไม่เชื่อแต่ไม่วางสายก็จะโอนให้ “ผู้ชำนาญโน้มน้าว” ด้วยการใช้จิตวิทยาชั้นสูงในการหลอกได้ดี ที่มีโทนเสียง ข้อมูล หรือสิ่งบางอย่างข่มขู่ให้เหยื่อกลัวจนต้องทำตามโดยรวดเร็ว และสามารถบังคับห้ามแจ้งใครได้ด้วยซ้ำ แล้วถ้ามีโมบายแบงกิ้งยิ่งส่งผลให้สามารถโอนเงินได้ง่าย ต่างจากอดีตการโอนเงินต้องไปธนาคารเท่านั้น
หากเทียบกับ “สิงคโปร์มีการใช้ระบบป้องกันล็อกการโอนเงิน” เช่น ในบัญชีมีเงิน 5 ล้านบาท “เจ้าของบัญชีกำหนดการโอนเงินไม่เกิน 5 แสนบาท” ถ้าต้องการโอนเงินสูงกว่านั้นก็ต้องไปธนาคาร แต่สิ่งนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการโอนเงินของบางคนจนมีการคัดค้านต่อต้านกัน
ย้ำแนวทางแก้ปัญหาคือ “เน้นลดผู้ตกเป็นเหยื่อให้น้อยลง” เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว “มักตามเงินคืน หรือจับคนร้ายได้ยากมาก” เหตุนี้ต้องลดผู้ตกเป็นเหยื่อด้วยการปราบปรามจับกุมคนทำผิดจริงจัง และทำควบคู่การกระตุ้นส่งเสริมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยทางไซเบอร์มากกว่านี้
...
เพราะด้วยลักษณะ “การหลอกลวงออนไลน์คล้ายกับการระบาดโควิด-19” หากเปรียบเทียบในมุมการลดสถิติติดเชื้อนั้น “ไม่ใช่มีแค่วัคซีนอย่างเดียว” แต่ส่วนหนึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางสร้างให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวตระหนักถึงการอยู่บ้าน ใส่หน้ากาก ล้างมือ และอยู่ห่างกัน เพื่อลดการติดเชื้อให้น้อยลงนั้น
ทำให้แต่ละวันเห็นว่า “วันใดประชาชนการ์ดตก ตัวเลขก็จะพุ่งสูงขึ้น” นำไปสู่การสื่อสารทุกช่องทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักต่อการป้องกันเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาได้
ปัญหาว่า “การหลอกลวงออนไลน์” ทุกคนมักได้รับข่าวทราบเรื่องเมื่อเกิดเหตุเกิดขึ้นแล้วค่อยประโคมปลุกกระแสสร้างการรับรู้ถึง “ภัยการหลอกลวงออนไลน์รูปแบบต่างๆ” เพื่อให้เกิดการตระหนักต่อการป้องกันในระยะสั้นๆ แต่ขณะที่แก๊งหลอกลวงต้มตุ๋นในออนไลน์มักจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเราไม่ใช่เหยื่อรายต่อไป
โดยการใช้เทคนิควิธีการหลอกชั้นสูงเสมือนกำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐตัวจริง หรือกำลังคุยกับผู้ขายของสามารถได้สินค้าจริงๆ แต่เรื่องที่เล่ากลับไม่ใช่เนื้อหาใหม่ล้วนเคยมีคนตกเป็นเหยื่อมาแทบทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้นหน่วยงานของรัฐหรือสื่อมวลชนพยายามเตือนให้ระวังพฤติการณ์มิจฉาชีพเกี่ยวกับวิธีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สุดท้ายก็พบประชาชนตกเป็นเหยื่อไม่เว้นแต่ละวันเช่นเดิม ส่วนหนึ่งตามที่ภาคเอกชนเคยทำการทดสอบหลอกลวงผ่านออนไลน์ 2 พันคน พบว่า 47% ไม่ถูกหลอกเพราะไม่ยอมคุยด้วย
อีกประมาณ 27% ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกจาก “คุยกับคนร้ายต่อ” เช่นนี้ทำให้นักวิจัยสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมไทย “ถ้าพบต้นทางโทรศัพท์เป็นแก๊งมิจฉาชีพต้องอย่าคุย” แล้วผ่านไปอีก 6 เดือนก็ทดสอบซ้ำปรากฏว่าจำนวนตัวเลข 47% ผู้ไม่ถูกหลอกกลับลดลง ฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างการตระหนักตักเตือนย้ำตลอดเวลา
...
เพื่อปรับเปลี่ยนความคิด “คนในสังคมใหม่” ด้วยการจะเชื่อใครไม่ควรนำเอาเงินออกจากกระเป๋าไปก่อนที่จะต้องตัดสินใจฉุกใจคิดสักนิด ถ้าไม่อยากต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มีการชักชวนผ่านสื่อออนไลน์นั้น
อย่างกรณีน้องสาวคนหนึ่ง “ถูกหลอกรูปแบบโรแมนซ์สแกม” ก่อนถูกถ่ายภาพอนาจารผ่านหน้าเว็บแคมอัดบันทึกภาพไว้แบล็กเมล์ จากนั้น “คนร้าย” ข่มขู่เรียกเงินในช่วงแรกๆ 5,000 บาท แล้วก็เพิ่มจำนวนเงินมากขึ้น “จนน้องคนนี้ต้องขโมยเงินพ่อแม่มาจ่ายอยู่เรื่อยๆ” สุดท้ายไม่มีทางออกก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามมา
ฉะนั้นแนะนำว่า “ไม่ควรคุยโทรศัพท์สายแปลกๆ และไม่รับแอดเพื่อนกับคนไม่รู้จัก” เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมแล้วปัญหาโรแมนซ์สแกม หลอกให้ลงทุน หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะไม่เกิดตั้งแต่แรก...
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม