ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2566 (ก.ค.-ก.ย.) มีการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สาขาปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีและความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรหดตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนชนิดพืช และลดปริมาณการผลิต”

ส่วนแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2566 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5–2.5 เมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขาของไตรมาส 3 นายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. ให้ข้อมูล สาขาพืชไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 0.5 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและปริมาณฝนในปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรลดเนื้อที่ปลูก จากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงทั้งค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์

...

มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากเนื้อที่บางส่วนในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออก เฉียงเหนือเจอฝนที่ตกหนักและอุทกภัยตั้งแต่ช่วง ก.ย. ประกอบกับช่วงเพาะปลูกประสบภาวะแล้ง สับปะรดโรงงาน ผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อย ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคใต้เจอสภาพอากาศร้อนจัด ฝนทิ้งช่วง และมีการระบาดของโรคใบร่วง

ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และปริมาณฝนไม่เพียงพอ ลำไย ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรในภาคเหนือโค่นต้นลำไยอายุมากและปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและทุเรียน ประกอบกับในช่วง ธ.ค.2565-ม.ค.2566 อากาศหนาวไม่เพียงพอ ทำให้ลำไยออกดอกน้อย ช่วงติดผลเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและอากาศร้อนจัด ทำให้ผลหลุดร่วง

ส่วนสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง เนื่องจากช่วงเพาะปลูกมีน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพียงพอ ประกอบกับราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรภาคใต้ขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้น และต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2561 ให้ผลผลิตในปีนี้เป็นปีแรก มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคใต้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับต้นมังคุดมีการพักต้นสะสมอาหารในปีที่ผ่านมา เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นเงาะดี ทำให้ผลผลิตเงาะในภาคใต้ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8 สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเฝ้าระวังโรคระบาดของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด ประกอบกับการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย รวมถึงราคาพันธุ์สุกรลดลง...ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว

สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ เนื่องจากการปลดแม่ไก่ยืนกรงให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเกษตรกรบางรายเลิกเลี้ยงไก่ไข่จากต้นทุนการผลิตที่สูง น้ำนมดิบ เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนเลิกเลี้ยง ปรับลดจำนวนโคในฝูงเพื่อลดภาระต้นทุนที่สูง

สาขาประมง ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 1.5 สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากมีการจัดการฟาร์มที่ดี กุ้งมีอัตราการรอดเพิ่มขึ้น

สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพง ปลานิลและปลาดุก เนื่องจากปริมาณน้ำมีน้อย สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง ต้นทุนอาหารสัตว์อยู่ในระดับสูง เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกพันธุ์ปลาและลดรอบการเลี้ยง

...

สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากหลายพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรบางส่วนจึงงด เลื่อน หรือปรับเปลี่ยนช่วงเวลาในการเพาะปลูก ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง

สาขาป่าไม้ ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ถ่านไม้ และรังนกเพิ่มขึ้น ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทน รวมถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีน ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม รวมทั้งความต้องการของตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับรังนกเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดจีน ขณะที่ไม้ยูคาลิปตัสลดลงตามความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นลดลง ส่วนครั่งลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม

...