ผมขอจบเรื่อง “เที่ยวญี่ปุ่น” ของผมสำหรับคอลัมน์ประจำวันไว้ที่ข้อเขียนฉบับเมื่อวาน (พฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม) นะครับ เพราะได้เขียนถึงเรื่องราวที่เป็นสาระเป็นความรู้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจของเขาที่กลับมาบูม และเรื่องการใช้ Soft Power เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยวและอื่นๆเอาไว้ครบถ้วนแล้ว

ส่วนเรื่องราวที่เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวโดยตรง เช่น แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อาหารการกินต่างๆ ตลอดจนเรื่องบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งยังมีอยู่ในสต๊อกเขียนได้อีกหลายๆตอนนั้นก็จะได้นำมาลงในคอลัมน์ “ซอกแซก” ฉบับวันอาทิตย์สัปดาห์ละครั้งต่อไปจนกว่าจะครบถ้วนและหมดวัตถุดิบที่จะนำมาเขียนเรียบร้อยแล้ว ว่างั้นเถิด

ขอเชิญติดตามอ่านได้ทุกๆวันอาทิตย์นะครับ

สำหรับข่าวแรกที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และสมควรที่จะนำมาบันทึกไว้อาจจะดูเป็นข่าวเล็กๆสำหรับหลายๆท่าน แต่สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นข่าวใหญ่มาก ขอนำมาบันทึกไว้ด้วยความยินดีและชื่นชมเพื่อเป็นกำลังใจแก่บุคคลที่มีส่วนในความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ได้แก่ ข่าว “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28” หรือ “Book Expo Thailand 2023” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย

โดยมียอดจำหน่ายหนังสือในงานนี้รวมแล้วกว่า 410 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขายได้ประมาณ 400 ล้านบาทเล็กน้อย

ในขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมงานก็มากถึง 1.62 ล้านคน ตลอด 12 วันของการจัดงานระหว่าง 12-23 ตุลาคม เกินเป้าหมายเช่นเดียวกัน

ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะผู้คนที่แห่ไปเที่ยวงานครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเดินทางไปโดยรถใต้ดิน

...

สถิติที่ท่านประธานจัดงานอันได้แก่ คุณสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PU BAT) แถลงด้วยความตื่นเต้นยินดีก็คือวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 มีคนเดินทางมาเข้างานมากที่สุดถึง 1 แสน 7 หมื่น 2 พันกว่าคน รองลงมาได้แก่ศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566 มีคนเข้าร่วมงาน 1 แสน 6 หมื่น 5 พันคนเศษ

คุณสุวิชบอกกับนักข่าวด้วยว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของงานหนังสือครั้งนี้คือ “กระแสการอ่าน” ที่กลับมา และคนรุ่นใหม่ไม่เพียงแค่อ่านหนังสือเท่านั้น แต่ยังสะสมหนังสืออีกด้วย สำนักพิมพ์หลายแห่ง ซึ่งปรับตัวมาล่วงหน้า จัดพิมพ์หนังสือในแบบ “บ็อกซ์เซต” มีกล่องเก็บรวบรวมหนังสือเป็นชุดๆมาด้วย ปรากฏว่าขายดีมากเช่นกัน

แต่ก็มิได้หมายความว่าร้านค้ากว่า 930 บูธ จาก 340 สำนักพิมพ์ และนำหนังสือมาจำหน่ายกว่า 1 ล้านเล่ม จะประสบความสำเร็จขายได้ตามเป้าหรือทะลุเป้าไปเสียทั้งหมด

จากการเดินสังเกตการณ์ส่วนตัว ท่านนายกฯพบว่าบูธที่ขายดีมักจะเป็นบูธที่มีการนำหนังสือปกใหม่ล่าสุดมาวางจำหน่าย แม้จะเป็นเรื่องเก่า แต่ขอให้พิมพ์ใหม่ ก็ขายดีเช่นกัน

บูธที่ขายแต่หนังสือเดิมๆ หรือที่พิมพ์ไว้เดิมจำนวนมากมักจะขายไม่ได้ เว้นแต่จะมีการลดราคาอย่างชนิดสุดๆเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้วคุณสุวิชเชื่อว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของร้านค้า และสำนักพิมพ์ที่มางานนี้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ก่อนงานเริ่มสัก 2 สัปดาห์ ท่านนายกฯได้นำคณะกรรมการสมาคมฯ และผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเราที่ไทยรัฐ ซึ่งมีผมเป็น 1 ในผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

น่าเสียดายที่พอเริ่มงานเข้าจริงๆผมต้องเดินทางไปญี่ปุ่นกับครอบครัวไม่มีโอกาสไปเดินเที่ยวงานแม้แต่วันเดียว

แต่ก็ได้เขียนประชาสัมพันธ์ให้งานนี้แบบเต็มคอลัมน์บ้างครึ่งคอลัมน์บ้างหลายครั้ง

จึงต้องขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจแก่ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สำหรับ “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ส่งท้ายปี 2566 นี้ อันแสดงถึงความกระตือรือร้นและกระแสการอ่านหนังสือของคนไทยที่ยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม

พบกันใหม่ 28 มี.ค.-8 เม.ย. ปีหน้า (2567) ในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52” ณ ศูนย์ฯสิริกิติ์เช่นกัน

ท่านนายกฯท่านตั้งชื่อไว้แล้วว่า “บุ๊คลิมปิก” หรือ “บุ๊คโอลิมปิก” ให้สอดคล้องกับการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส...อย่าลืมลุ้นกันด้วย ขอให้ทะลุหลัก 500 ล้านบาทเลยนะครับครั้งต่อไป.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม