ดร.ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยถึงรายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 จากการสัมมนาวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ ตอนหนึ่งว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รายได้ครัวเรือนลดลงเหลือ 1,039 บาทต่อเดือน หรือวันละ 34 บาท มีเด็กยากจนพิเศษเพิ่มเป็น 1.8 ล้านคน จำนวนนี้ กสศ.และภาคีเครือข่ายให้ทุนเสมอภาคเด็ก จำนวน 1.2 ล้านคน อย่างไรก็ตามปี 2566 กสศ.สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเด็กยากจนพิเศษตั้งแต่ประถมถึงอุดมศึกษาได้ 1.6 แสนคน ซึ่งพบว่าเด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบเมื่อเรียนสูงขึ้น โดยถึงระดับ ม.3 หลุดจากระบบไปร้อยละ 20 หรือ 33,547 คน และเรียนถึงระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ 21,921 คน หรือร้อยละ 12.46 หรือเด็กยากจนพิเศษ 10 คน เรียนถึงระดับอุดมศึกษาได้เพียง 1 คน เท่านั้น รวมแล้วมีเด็ก ม.3 หลุดจากระบบทำให้เรียนต่อไม่ถึงอุดมศึกษาถึง 150,000 คน

ดร.ไกรยสกล่าวต่อว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อระดับสูงขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งค่าเดินทาง ค่าสมัคร ค่าเทอม โดยค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 13,200-29,000 บาท หรือคิดเป็น 12 เท่าของรายได้ที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเด็กไม่ทราบหรือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ยืมการศึกษา รวมทั้งข้อจำกัดของแหล่งทุนซึ่งมอบเงินให้เด็กล่าช้าเกินกำหนดการจ่ายค่าสมัครหรือค่าเทอม ทำให้เด็กตัดสินใจไม่เรียนต่อ ซึ่ง กสศ.มีข้อเสนอแนะต่อการลดความเหลื่อมล้ำคือ เนื่องจากไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือปีละ 5 แสนคน เด็กเหล่านี้เปรียบเหมือนมนุษย์ทองคำที่เราต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาแม้แต่คนเดียว

โดยต้องเชื่อมโยงข้อมูลทุกส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้รู้ว่าเด็กอยู่ที่ไหนบ้าง มีภาวะยากลำบากอย่างไร และเข้าไปช่วยเหลือทันที สำหรับเด็กที่เรียนต่อระดับสูงขึ้น ควรจัดให้มีระบบเครดิตการเงินให้กับเด็ก โดยสถาบันการศึกษาควรทำความตกลงกับกองทุนกู้ยืมการศึกษา ออกใบรับรองให้สถาบันการศึกษามั่นใจว่า จะได้รับเงินกู้แน่นอน เพื่อให้เด็กได้สิทธิลงทะเบียนเรียนต่อ ซึ่งเรื่องนี้ กสศ. จะหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ กยศ. หากทำได้จะช่วยเด็กได้ทันทีสำหรับปีการศึกษา 2567.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่