ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งในวงการ “หนังผีไทย” เมื่อภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “สัปเหร่อ” ทำรายได้ในโรงภาพยนตร์ทะลุ 400 ล้านบาทอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เข้าฉายได้เพียงสองสัปดาห์เศษตั้งแต่ 5 ตุลาคม คาดกันว่าหนังผีบ้านๆ “สัปเหร่อ” จะทำรายได้ทะลุ 500 ล้านบาทในเร็ววันนี้ ถ้าได้เข้าฉายใน Netflix เมื่อไหร่ “สัปเหร่อ” จะทำรายได้เป็นพันล้านเลยทีเดียว เพราะฝรั่งก็ชอบดูหนังผีไทย ทำให้ผู้ถือหุ้น ไทบ้านสตูดิโอ ผู้สร้างหนังเรื่องนี้กลายเป็นเศรษฐีไปทันที หนังผีเรื่อง “สัปเหร่อ” ใช้เงินลงทุนสร้างถูกมาก 10 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่รายได้เดือนแรกก็พุ่งไปกว่า 400-500 ล้านบาทแล้ว เมื่อแบ่งรายได้กับโรงหนังและสายหนัง ไทบ้านสตูดิโอ ยังเหลือกำไรอีกหลายร้อยล้านบาท

หนังผีไทยที่ทำรายได้เกินร้อยล้านบาทมีไม่มาก หนังผีไทยที่ทำรายได้มากที่สุดคือเรื่อง “พี่มาก...พระโขนง” ทำรายได้ 560 ล้านบาท รองมา นางนาก ทำรายได้ 150 ล้านบาท ที่เหลือทำรายได้ระดับร้อยล้านบาทต้นๆ เช่น ลัดดาแลนด์ ห้าแพร่ง ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ

“ต้องเต” ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้ว่า “...ตัวหนังอาจทำให้คนผิดหวัง ที่คาดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้เยอะ แต่ผมมันบ้าไปที่อยากทดลองเล่าเรื่องธรรมดาๆด้วยความจริงที่เราพบเห็น ผ่านวิถีชีวิตคนอีสานยุคใหม่ ที่ตั้งคำถามกับความเชื่อ พิธีกรรมที่กำลังจะหายไป ความงดงามและเล่าเรื่องความตายที่เราต้องเจอ ตอนเขียนบทผมคิดเยอะมาก ระหว่างใส่ตัวตนที่เราเป็นอยู่ หรือเราจะเอาใจกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามไทบ้านเป็นหลัก...หวังว่าทุกคนอาจจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้นะครับ...”

...

หนังผีไทย เท่าที่ผมติดตามข่าวเป็นครั้งคราว ดูเหมือนจะกลายเป็น Soft Power เล็กๆ ที่แทรกซึมไปสู่ชาติตะวันตก มีหลายครั้งที่ผมเห็นข่าวว่า ฝรั่งชอบหนังผีไทยมาก และชอบผีไทยมาก ทั้งน่ากลัวและน่ารัก ไม่เหมือนผีฝรั่ง ถ้ารัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง ไม่สักแต่พูดไปเรื่อยเปื่อย ผมเชื่อว่า “หนังผีไทย” จะกลายเป็น Soft Power ที่จะสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทยไม่แพ้ “มวยไทย” และศิลปวัฒนธรรมด้านอื่นๆ แน่นอน

เมื่อเดือนมีนาคมต้นปีนี้ คุณศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้จัดงานเสวนาว่าด้วยเรื่อง “ผี : นานาสาระความเชื่อในวัฒนธรรมไทย” มีการพูดถึง ความสำคัญของหนังผีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดย ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬา ระบุว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์ไทยก็คือหนังเรื่อง “นางนาก” ที่กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หนังผีไทยเริ่มได้รับความสนใจในแวดวงเทศกาลหนัง นอกจากนี้ วงการหนังผีไทยยังได้รับอิทธิพลมาจากหนังสยองขวัญญี่ปุ่น เช่น ซาดาโกะ เดอะริง คำสาปมรณะ เป็นต้น

ประเด็นเสวนาที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไร “หนังผีไทย” จะเป็น Soft Power?

ผศ.ดร.สุกัญญา มีความเห็นว่า อาจต้องเริ่มต้นในประเทศก่อนเหมือนเกาหลีใต้ เมื่อคนในบ้านชื่นชอบ มีการสนับสนุนเต็มที่ ก็มีโอกาสที่หนังผีไทยจะก้าวไปสู่สากลได้ เช่นเรื่อง “พี่มาก...พระโขนง” หรือ “ร่างทรง The Medium” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับเกาหลี แม้จะฉายในช่วงโควิดรายได้ก็ยังทะลุ 100 ล้านบาท อุตสาหกรรมภาพยนตร์ผีไทย ยังสามารถเติบโตก้าวสู่สากลได้มากกว่านี้ ประเทศไทยยังมี “ผี” อยู่จำนวนมากที่สามารถปรับใช้กับสังคมปัจจุบัน เหมือน “ลัดดาแลนด์” ที่ผูกโยงเรื่องผีกับอสังหาริมทรัพย์ เรื่อง “เพื่อน...
ที่ระลึก” ที่ผูกโยงเรื่องผีกับ วิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นต้น

แต่ สิ่งที่ประเทศไทยขาด ก็คือ การสนับสนุนบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการต่างๆ

ผมว่า “หนังผีนักการเมืองไทย” ก็น่าสนใจนะครับ สร้างเป็นซีรีส์ยาวฉายใน Netflix ไปเลย โดยผูกโยงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในวงการเมืองไทย ฉายเมื่อไหร่รับรองว่าดังสนั่นโลกแน่นอน ไม่มีการทุจริตที่ไหนในโลกจะง่ายดายและคลาสสิกเท่าเมืองไทยอีกแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม