ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต วันที่ 8 ศาลเจ้ากะทู้ต้นกำเนิด "แห่พระรอบเมือง" ยังรักษาแบบแผนประเพณีดั้งเดิม ม้าทรงไม่ฉีกตำนาน ใช้อาวุธทิ่มแทงทรมานร่างกายรับเคราะห์แทนผู้ถือศีล
ช่วงเช้าวันที่ 22 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันที่ 8 ของประเพณีถือศีลกินผัก หรือ เจี๊ยะฉ่าย จ.ภูเก็ต และเป็นวันที่ 7 ของการประกอบพิธีแห่พระรอบเมือง หรือ อิ้วเก้ง โดยอ๊าม หรือ ศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่และเป็นศาลเจ้าต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผัก ตั้งขบวนที่บริเวณหน้าห้างแม็คโครภูเก็ต ถ.วิชิตสงคราม อ.เมืองก่อนเคลื่อนขบวนเข้าสู่ตัวเมือง ตลอดสองข้างทางมีประชาชนตั้งโต๊ะรับพระ และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ออกมาชมขบวนเป็นจำนวนมาก
สำหรับขบวนแห่พระของศาลเจ้ากะทู้ ม้าทรงชายหญิง ต่างใช้อาวุธที่อยู่ในตำนานทรมานร่างกาย เพื่อรับเคราะห์แทนผู้ถือศีลกินผัก เช่น หัวมณฑล ก้านดอกดาหรา มีดดาบ เหล็กแหลม เป็นต้น
...
ทั้งนี้ ศาลเจ้า หรือ อ๊ามกะทู้ ถือเป็นศาลเจ้าต้นกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต โดยในอดีตจะเรียกว่า กินเจ โดยเริ่มประเพณีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2368 ปัจจุบันมีอายุกว่า 199 ปี และยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมทุกประการ และในที่ 23 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของประเพณีถือศีลกินผักประจำปี ช่วงเช้าจะมีพิธีแห่พระรอบเมืองของศาลเจ้าหล่อโรง จากนั้นตั้งแต่เวลา 22.00-00.00 น.ของวันใหม่ ทุกศาลเจ้าที่เข้าร่วมประเพณีถือศีลกินผักจะประกอบพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ (ประธานประเพณีถือศีลกินผัก) และหยกอ๋องซ่งเต่ (เง็กเซียนฮ่องเต้) บริเวณชายหาดหน้าศาลเจ้ากิ้วเทียนเก้ง ปลายแหลมสะพานหิน อ.เมืองภูเก็ต กลับสวรรค์ หรือเรียกกันว่า "ส่งพระ" โดยในตัวเมืองภูเก็ตจะเต็มไปด้วยควันและเสียงจากการจุดประทัดนับล้านๆ นัด เมื่อขบวนองค์กิ้วอ๋องไต่เต่และองค์หยกอ๋องซ่งเต่ผ่าน เพื่อร่วมกันส่งองค์เทพ