เช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2566 “ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร” รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน...“ฝุ่น PM2.5” เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม 48 พื้นที่ เริ่มกระทบสุขภาพ

ข้อแนะนำ...สำหรับ “บุคคลทั่วไป” ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ส่วน “ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ”...ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลียควรปรึกษาแพทย์

“ฝุ่น PM2.5 กำลังใกล้จะมาหาเราอีกแล้ว”...อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เปิดประเด็นนี้ไว้เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ย้ำต่อเนื่องไปถึงประเด็น...“ปัญหาฝุ่น PM2.5 กับสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่เสร็จ” ในสองประเด็นสำคัญ

...

หนึ่ง...ฝุ่น 2.5 เริ่มกลับมาอีกครั้งหลังจากฤดูฝนจางลงและอากาศเย็นพัดลงมาจากแผ่นดินใหญ่ ความกดอากาศสูงปกคลุมพื้นดินทำให้ฝุ่น PM2.5 ที่มาจากแหล่งกำเนิดต่างๆใน กทม.สูงขึ้นถึงสีส้ม

หรือ...เกินมาตรฐานคือ 37.5 มค.ก.ต่อ ลบ.ม. (24 ชม.)

สอง...แผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติป้องกันและลดฝุ่น 2.5 เมื่อ พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้มีทั้งแผน ระยะสั้น (2562-2564) และระยะยาว (2565-2567) จะต้องย้อนกลับมาดูว่า...การลดฝุ่น 2.5 ที่แหล่งกำเนิดอะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือยังทำแล้วไม่เสร็จ จนจะหมดแผนระยะยาวแล้วมีอะไรบ้าง?

...เอาเฉพาะที่สำคัญ

แยกย่อยเป็น...รถยนต์ดีเซลใน กทม.ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านคัน (ข้อมูลกรมขนส่งทางบก) จากปี 2565 ซึ่งมี 2.8 กว่าล้านคันรถส่วนใหญ่ใช้น้ำมันยูโร 4 คือ...มีกำมะถันถึง 50ppm.

ถัดมา...มีการนำเครื่องยนต์เก่าเข้ามาใช้มากมายทั้งที่ต้องไม่มีแล้ว

น่าสนใจว่า...กำหนดเดิมต้องใช้น้ำมันยูโร 5 กับรถดีเซลทั้งหมดในปี 2565 แต่เลื่อนมาใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 แทน ซึ่งยังไม่มีความมั่นใจจะได้ใช้หรือไม่ เพราะ...อาจมีราคาแพง

อีกมิติสำคัญส่วนโรงงานใน กทม. 500 กว่าแห่งจาก 5,000 แห่งต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ และ 200 กว่าแห่งต้องติด CEMs ส่งข้อมูลไปยังหน่วยราชการตลอดเวลา...ยังทำไม่ครบ

อีกทั้งปัจจัยที่สำคัญมิติต่างๆ...การเผาในที่โล่ง, การตรวจไซต์ก่อสร้างและการตรวจจับควันดำต้องใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การสาธารณสุขและกฎหมายขนส่งทางบกอย่างเข้มงวด

จะต้องทำการ “ควบคุม” ก่อนเดือนที่ฝุ่นจะมา...แต่ยังไม่ค่อย ดำเนินการ

นอกจากนี้แล้ว “อ้อยไฟไหม้” ในปี 2565 เข้าโรงงานน้ำตาลต้องไม่มี แต่ปีที่ผ่านมายังมีถึง 30% และรัฐได้ขอเลื่อนกำหนดใหม่เป็นปี 2566 ต้องไม่มีอ้อยไฟไหม้เลย...ดูกันต่อไป

พุ่งเป้าไปที่ประเด็นสำคัญ...เมื่อเกิดฝุ่นควันสูงมากต้องประกาศเป็น “ภาวะภัยพิบัติ” แต่ยังไม่มีตัวเลขฝุ่นที่ชัดเจนว่าเท่าไหร่ทำให้ประกาศเป็นภัยพิบัติไม่ได้ จึงไม่สามารถนำงบประมาณมาใช้แจกหน้ากาก N95 ทำห้องปลอดฝุ่นไม่ได้ ชดเชยผู้เจ็บป่วยไม่ได้เช่นกัน เป็นต้น

“การเผาตอซังฟางข้าวยังเกิดขึ้นทั่วไปเพราะไม่มีมาตรการที่เพียงพอ ไปดูแลพี่น้องเกษตรกร มาตรการชิงเก็บ ลดเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังทำได้น้อย...ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน นโยบายไม่ชัด”

นับรวมไปถึงปัญหา “ฝุ่นข้ามแดน” จากการ “เผา” หลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรของเพื่อนบ้านยังไม่มีการเจรจาที่เป็นรูปธรรม...เรายังรับซื้อเหมือนเดิม

ประเด็นสุดท้าย...นโยบายกระจายอำนาจ งบประมาณให้ท้องถิ่นดำเนินการยังไม่ทำ ท้องถิ่นสามารถพูดคุย ประชุมกับชาวบ้านหาทางออกร่วมกันในการ “ลดเผา” หรือ “ไม่เผา” ได้ดีกว่าส่วนกลาง

“สิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก หลายๆประเทศเดินหน้าพัฒนาปรับปรุงนโยบายรัฐบาลเพื่อสิ่งนี้ จะเกี่ยวมากเกี่ยวน้อยกับปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5 ลองพิจารณากันดู

เริ่มจากประเทศสิงคโปร์มีคนอายุยืน...รัฐบาลให้อะไรกับคนของเขา?

อาจารย์สนธิ บอกว่า ประเทศ “สิงคโปร์” มีขนาดเท่าจังหวัดภูเก็ตของไทยมีขนาดประมาณ 699.4 ตารางกิโลเมตรมีประชากร 5.31 ล้านคน แต่คนอายุยืนเฉลี่ย 83.1 ปี จัดเป็นอันดับสามของโลก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนอาคารคอนโดมิเนียมที่หนาแน่น...แต่ทำไมอายุยืน...รัฐบาลทำอะไรให้กับประชาชน?

...

ข้อแรก...สร้างทางเดินในเมืองอย่างกว้างขวางเน้นการเดินมากกว่าการใช้รถยนต์ รัฐบาลรณรงค์ให้คนเดินวันละ 8,000 ถึง 10,000 ก้าวขึ้นไป ทางไกลให้ใช้จักรยานโดยสร้างทางจักรยานให้เกือบรอบเกาะ

ข้อที่สอง...สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก มากถึง 29.3% หรือ 66 ตร.ม.ต่อคน และในพื้นที่ที่มีขนาดเทียบเท่าเพียงจังหวัดภูเก็ตของไทย

แต่...สิงคโปร์มีสวนสาธารณะมากถึง 350 แห่งให้คนไปออกกำลังกาย สูดก๊าซออกซิเจนและเน้นผ่อนคลายความเครียด

ข้อสาม...นโยบายที่เป็นหัวใจของการรักษาต้นไม้ใหญ่ในสิงคโปร์ คือการไม่อนุญาตให้ใครก็ตามโค่นต้นไม้ตามอำเภอใจ ต้นไม้ทุกต้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไปถือเป็นต้นไม้อนุรักษ์ ไม่สามารถตัดได้ แม้จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม

ข้อที่สี่...รัฐบาลรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทุกวัยให้รับประทานอาหารอย่างมีคุณภาพ ทานน้ำตาลน้อยมาก ไม่หวาน ไม่มัน และไม่เค็ม

ข้อที่ห้า...รัฐบาลทำให้คนสิงคโปร์รวยก่อนแก่...ปัจจุบันคนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยปีละเกือบ 2 ล้านบาท หรือประมาณ 10 เท่าของประเทศไทย...ที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ 2 แสนบาท

...

ถัดมา “The cleanest air in the world is in Zurich.” ...เมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีอากาศสะอาดมากที่สุดในโลกในปี 2566 เนื่องจากประสบความสำเร็จในการจัดการ

เพิ่มระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมทั้งเมือง...เชื่อมต่อกับรถไฟ รถราง รถเมล์ไฟฟ้าได้...จำกัดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล...เบนซินเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเก็บภาษีแพงและลดภาษีให้ถูกลงถ้าใช้รถยนต์ไฟฟ้า...มีเลนจักรยานครอบคลุมทั้งเมือง เช่าจักรยานใช้ขี่จากที่หนึ่งไปอีกแห่งได้โดยไม่ต้องนำมาคืนที่เดิม

“...ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ฟอสซิลอยู่ในเมือง ซูริกเป็นเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ทางภาคกลางตอนเหนือของประเทศ มีประชากรในเขตตัวเมือง 400,000 คนและมีประชากรบริเวณรอบตัวเมืองรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน”

เหลียวกลับมามอง “ประเทศไทย” อาจให้รู้สึกเหมือนลุ่มๆดอนๆกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ปัญหาโลกร้อน ฝนหนัก...นาน กทม.เสี่ยงจมน้ำ น้ำเสีย...อากาศเสีย ฯลฯ ที่ยังไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยเฉพาะ.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม