“ช่วงปี 2548 สวนส้มย่านรังสิตและใกล้เคียงล่มสลาย ผมและชาวสวนส้มจึงต้องหาปลูกพืชอื่นทดแทน หลายคนหันไปปลูกกล้วยหอมทอง แต่ผมกับเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะปลูกไผ่ที่เริ่มมีกระแสบูมในช่วงนั้น จนมีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 2,000 ไร่ แต่หลังจากปลูกและทำตลาดมาได้เพียง 3 ปี ตลาดถึงทางตัน เพราะปริมาณไผ่ที่ออกมามากเกินกว่าที่ตลาดจะรับได้ ทำให้หลายคนทยอยเลิกกันไปตั้งแต่ปี 2554 เหลือผมแค่คนเดียวที่ยืนหยัดสู้ต่อ และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีพื้นที่ปลูก 200 ไร่”

บารมี วรานนท์วนิช เจ้าของสวนไผ่บารมี ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี บอกถึงเส้นทางสายไผ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 20 ปี จนกลายเป็นอาณาจักรไผ่บนพื้นที่ 200 ไร่...ปัญหาของไผ่ที่ทำให้หลายสวนเดินไปไม่ถึงเส้นชัยคือ ปัญหาด้านตลาด

ฉะนั้นแหล่งปลูกไผ่ที่ประสบความสำเร็จ มักมีการรวมกลุ่มกันปลูกและทำตลาดไปด้วยกัน เพื่อให้ได้ปริมาณมากพอไปขายยังตลาดขายส่ง เพราะไผ่ไม่ใช่พืชที่มีราคาสูง หากปลูกน้อยจะทำตลาดยาก ไม่คุ้มที่จะเข้ามาส่งตลาดที่อยู่ไกล จะขายในท้องถิ่นก็ยาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่หน่อไม้ธรรมชาติมีมาก ทำให้หลายคนถอดใจ

...

เจ้าของสวนไผ่บารมีบอกต่อไปว่า แม้หลายปีจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกไผ่ทุกกระบวนการ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะก่อนหน้านี้ทำหน่อไม้ต้มส่งตลาดขายส่ง ทั้งตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แถมราคาไม่แน่นอน จึงคิดทำตลาดเองที่บ้าน แล้วขายในราคาถูกกว่าราคาขายส่ง ให้พ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ไม่นานก็พัฒนาสู่การทำหน่อไม้ปี๊ปในช่วงหน่อไม้ธรรมชาติออกเยอะ จนปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่กว่า 20 ราย จากทั่วสารทิศ ตั้งแต่วันละ 1,500-3,000 กก.

“เรามีวิธีการจัดการตลาดที่ดี ช่วงหน่อไม้เยอะอัดใส่ปี๊บไว้ขายได้ ช่วงปกติต้มขายไป คนที่ซื้อไปนำไปประกอบอาหารได้เลย ไม่ต้องไปต้มให้เสียเวลา ต้มไม่เป็นขม ช่วง พ.ย.-ก.พ. จะขายทั้งหน่อสดและต้ม แต่พอเดือน ก.ค.-ก.ย. หน่อไม้ธรรมชาติออกเยอะ จะหันมาทำหน่อไม้ปี๊บเก็บไว้ขายได้ ถือเป็นการยืดอายุการเก็บรักษา สามารถอยู่ได้นานกว่า 6 เดือน แถมยังเพิ่มมูลค่าได้หนึ่งเท่าตัว โดยข้อได้เปรียบของที่นี่คือ ได้หน่อไม้สดต้มใหม่ทุกวัน และราคาถูกกว่าราคาขายส่ง ทำให้ลูกค้าค่อนข้างพอใจ”

สำหรับเทคนิคการทำหน่อไม้นอกฤดู เพื่อให้เก็บหน่อขายได้ช่วงแพง จะใช้วิธีไว้ลำใหม่และตัดลำเก่าออก ยกตัวอย่าง หน่อไม้จะเริ่มแพงช่วง ม.ค. จะเริ่มไว้ลำใหม่ตั้งแต่ ก.ย. หน่อที่ไว้ลำจะแทงหน่อและเก็บผลผลิตได้ภายใน 90 วัน หลังไว้ลำ และพอถึง พ.ย.จะตัดลำเก่าออกให้หมด เหลือต้นใหม่อย่างเดียว โดยจะไว้ลำกอละ 4-5 ต้น ไผ่ 1 กอจะให้หน่อปีละ 70–80 กก. เนื้อที่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตปีละ 2,800–3,000 กก. ส่วนการตัดหน่อไม้จะตัดเมื่อความสูงของหน่อ 35-40 ซม. เพราะเป็นขนาดที่เหมาะกับการรับประทาน

...

เจ้าของสวนบารมีบอกในตอนท้าย ไผ่เป็นพืชที่ดูแลน้อยมาก แทบจะไม่ต้องดูแลอะไรเลย เพียงแค่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยเคมีเดือนละครั้ง ถ้าช่วงหน่อเยอะใส่เดือนละ 2 ครั้ง ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ไร่ละ 5 กก. พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 กอ ระยะปลูก 3 เมตร ในระบบร่องน้ำ โดยไผ่เลี้ยงหวานพันธุ์เบาสามารถเริ่มให้หน่อครั้งแรกเมื่ออายุ 100-120 วัน หลังปลูก ช่วงผลผลิตเยอะ 1 ไร่ เก็บหน่อไม้ได้ไร่ละ 17 กก.ต่อวัน ช่วงผลผลิตน้อยสุดจะเก็บหน่อไม้ได้ไร่ละ 7 กก.ต่อวัน

หน่อไม้ต้มอาจดูเหมือนราคาแค่หลักสิบ แต่โดยรวมสร้างรายได้ราวไร่ละ 40,000 บาทต่อปี ไผ่ 200 ไร่ ทำเงินให้แค่ปีละ 8 ล้านเท่านั้นเอง สนใจ โทร.08-6031-3173 หรือ 06-3360-1977.

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม