นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยถึงการดำเนินโครงการการประเมินสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรว่า เป็นการศึกษาลักษณะและสมบัติบางประการของดิน รวมถึงประเมินสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่ปลูกพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลทรัพยากรดินและแนวทางการจัดการดินในพื้นที่ปลูกพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายชนิดพืชเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทางการเกษตรของประเทศ
“เพราะข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราทราบสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีและบ่งชี้สถานะของดินที่มีการปลูกพืชให้มีคุณภาพดี อีกทั้งนำไปใช้เป็นคำแนะนำการจัดการดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรดินในบริเวณที่มีลักษณะโดดเด่น เพื่อผลักดัน เสริมสร้าง และคุ้มครองให้เป็นปัจจัยสำคัญต่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พืชท้องถิ่น และพืชเศรษฐกิจอื่นๆที่มีคุณภาพดี”
...
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า การสนับสนุนฐานข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช GI ให้ได้มาตรฐานเพื่อคุ้มครองทรัพยากรดินที่เหมาะสมสำหรับพืช GI ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิประเทศ แผนที่ชุดดิน แผนที่สภาพการใช้ที่ดิน ความเหมาะสมของที่ดินในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูกพืช GI ของประเทศไทย จะถูกนำมาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพที่ดินทั้งระดับความต้องการปัจจัยของพืช GI และสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดชั้นความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืช GI ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำเขตการใช้ที่ดินสำหรับพืช GI ในการขยายพื้นที่เพาะปลูก พร้อมทั้งจัดทำเขตเหมาะสมมากสำหรับปลูกพืช GI และเขตเหมาะสมมากสำหรับขยายพื้นที่ปลูกพืช GI ด้วย
“สำหรับขอบเขตพื้นที่เพาะปลูกพืช GI ของประเทศไทย ที่มีอยู่ทั้งหมด 48 ชนิด ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการไปแล้ว 6 ชนิดพืช ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่นครพนม และข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขยายผลแผนพัฒนาพืช GI ในอนาคตแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้สนใจสามารถนำฐานข้อมูลสารสนเทศพืช GI ของกรมพัฒนาที่ดินไปวิจัยต่อยอด หรือใช้ประโยชน์สำหรับกำหนดแผนงานได้” นายปราโมทย์ กล่าว.
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม