กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสำรวจโลก “THEOS-2” ขึ้นสู่วงโคจรของอวกาศจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้

ศุภมาส อิศรภักดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. บอกว่า แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการ เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้วจะทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราว3เดือนก่อนจะใช้งานได้ แต่หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ

THEOS-2...ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5-8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

“หลังจากนี้จะมีการต่อยอดยกระดับด้านต่างๆของประเทศ รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนให้รู้ว่าดาวเทียม THEOS-2 มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้ในการปรับปรุง ทำให้ในทุกพื้นที่ของไทยเป็นปัจจุบัน ทันสมัย มีความละเอียดที่ถูกต้อง”

ศุภมาส อิศรภักดี
ศุภมาส อิศรภักดี

...

ที่สำคัญจะช่วยให้ทุกการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กระทรวงศึกษาธิการ” และ “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ” มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นระบบปัญญาของชาติ แต่นักการเมืองไม่ค่อยสนใจ อาจกลัวว่ายาก

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เปิดมุมมองประเด็น “รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ควรทำอะไร?” เอาไว้ว่า

ในวันวานเมื่อครั้ง...คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านพูดกับผมว่า “เรื่องการศึกษานี้ผมอยากทำมาก แต่ไม่รู้จะจับในแง่มุมไหน”

“แง่มุม” ที่คุณทักษิณพูดนั้น คือ “จุดคานงัด” ถ้ารู้จุดคานงัดแล้วงัดตรงนั้น จะยกประเทศไทยขึ้นได้ทั้งประเทศ แต่ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดเข้าใจ “แง่มุม” ที่คุณทักษิณพูด หรือ “จุดคานงัด” ของการศึกษาไทย ก็น่าเห็นใจ ผ่านมาถึงวันนี้ ศ.นพ.ประเวศ มีคำแนะนำต่อท่านรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวง ก็คือ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี

หนึ่ง...อย่าไปบริหารงานประจำ ซึ่งจะเหนื่อยและไม่ได้ผล ระบบมีข้าราชการประจำทำอยู่แล้ว

สอง...รัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำนโยบาย และนโยบายต้องพุ่งไปที่จุดคานงัดของระบบการศึกษา ซึ่งถ้างัดตรงนี้อย่างเดียว ทั้งหมดจะดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

คำถามสำคัญมีว่า...“จุดคานงัดประเทศไทย” คืออะไร

คำตอบก็คือ...“ประเทศไทย” มีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามาก ควรเจริญรุ่งเรืองยิ่ง แต่กลับติดอยู่ในวิกฤตการณ์เรื้อรัง เพราะ “พัฒนาแบบแยกส่วน” เป็นเรื่องๆ อะไรที่ชำแหละเป็นส่วนๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกรก็จะทำให้สิ้นชีวิต...ชีวิตคือการเชื่อมโยง

“การพัฒนาแบบแยกส่วนทำให้ประเทศเสียสมดุลหมดทุกมิติ อะไรที่ไม่สมดุลก็จะปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤติ ไม่ยั่งยืน...เพราะฉะนั้น จุดคานงัดประเทศไทยคือ พัฒนาอย่างบูรณาการ ให้ทุกส่วนเชื่อมโยงกัน เมื่อเชื่อมโยงก็จะมีชีวิต ชีวิตเรียนรู้และเติบโตได้”

การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาหน่วยงาน หรือประเด็น หรือวิชาการเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะแยกส่วนเป็นเรื่องๆ

...

ฉายภาพ “ประเทศไทย” ที่มีบูรณภาพอย่างสมบูรณ์

เริ่มจาก...พัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ 8 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ,จิตใจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, วัฒนธรรม, สุขภาพ, การศึกษา, ประชาธิปไตย

โดยทั้ง 8 มิติข้างต้นนี้ จะเชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน แบบที่เรียกว่า “มรรคสมังคี”

ถัดมา...ระบบต่างๆอีก 8 ระบบ ซึ่งจะบูรณาการกับพื้นที่และระหว่างกัน ได้แก่ การเมือง, รัฐ, ธุรกิจการเงิน, การศึกษา, ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขภาพ, ประชาสังคม, การสื่อสาร ถึงตรงนี้...ประเทศไทยที่มีบูรณภาพและดุลยภาพ...“ระบบอะไรๆก็ต้องเป็นระบบที่บูรณาการ ไม่ใช่แยกส่วน”

แล้วก็มาถึง...ระบบการศึกษาบูรณาการที่เป็นอีกหัวใจสำคัญ ซึ่งปัญหาใหญ่ของการศึกษาคือ เป็นระบบการศึกษาที่แยกส่วนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง วิชาความรู้มีความสำคัญแต่ไม่ใช่ตัวตั้ง แต่เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งของการเรียนรู้...โดย การศึกษาต้องบูรณาการกับชีวิต ตามหลักทางพุทธศาสนานั้น

“ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต...ชีวิตจะเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆชีวิตต้องเรียนรู้ให้...ทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น พัฒนาจิตใจเป็น...ถ้าการศึกษาทำให้ทุกคนมี หกเป็นดังกล่าว ชีวิตก็จะเจริญ สังคมก็จะเจริญ”

...

จุดคานงัดจึงอยู่ที่ “เรียนรู้จากการทำ” ที่ทำให้ทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น พัฒนาจิตใจเป็น ไม่ใช่การศึกษาแบบ “ท่องเป็น” แต่ทำอะไรไม่เป็น เป็นเหตุให้ชาติอ่อนแอและวิกฤติ

นโยบายจุดคานงัดของกระทรวงศึกษาธิการมีว่า...ให้ทุกสถาบันการศึกษามี หลักสูตรเรียนรู้จากการทำงาน (Work-Base Learning) หรือ WBL ถ้ามีการเรียนรู้จากการทำงาน มีรายได้ไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย จะหายจนทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คือหายจนทั้งประเทศ และคนไทยมีสมรรถนะสูงเพราะ “ทำเป็น”

แน่นอนว่า “อุดมศึกษา” ควรเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤติ ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน ประมาณ 140 แห่ง มีนิสิตนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคนมีครูบาอาจารย์นักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมศักยภาพทางปัญญามหาศาล

แต่...การที่ไม่สามารถเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤติได้ เพราะ “คิดเชิงเทคนิคเท่านั้น” ขาดสมรรถนะการคิดเชิงระบบและการจัดการ รวมทั้งสมรรถนะเชิงพัฒนานโยบาย

จุด “คานงัด” ของ “อุดมศึกษาไทย” มี 2 จุดด้วยกันคือ 1.นโยบายการทำงานเชิงพื้นที่ 1 มหาวิทยาลัย/1 จังหวัด ถ้าร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ จะทำให้คนไทยเข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย

...

2.นโยบายมหาวิทยาลัยกับการพัฒนานโยบาย นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติ เพราะกระทบทุกองคาพยพของประเทศ ประเทศไทยเกือบไม่มีความสำเร็จทางนโยบาย เป็นเหตุให้ติดอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์ ทั้งนี้ เพราะขาดความเข้าใจ ระบบนโยบาย...นโยบายเป็นระบบไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น

ถ้าทำเป็นระบบครบวงจรทุกขั้นตอน ก็จะสำเร็จทุกเรื่อง เรียกว่า “สัมฤทธิศาสตร์”...หากมหาวิทยาลัยสร้างความเชี่ยวชาญในสัมฤทธิศาสตร์ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีความสำเร็จทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชุมชนจน
ถึงนโยบาย...“อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤติ”

“ถ้าท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวง อว. ทำตรงนโยบายจุดคานงัด ทุกสิ่งทุกอย่างก็สัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่...สู่องค์รวม ประเทศไทยที่เป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์...ทำนองเดียวกับที่เครื่องบินเมื่อประกอบชิ้นส่วนครบเป็นองค์รวมก็มีคุณสมบัติใหม่ คือบินได้ ในขณะที่ไม่มีชิ้นส่วนใดบินได้เลย”

“ประเทศไทย”...ก็เช่นเดียวกัน พัฒนาแบบแยกส่วนประเทศไทยบินไม่ได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม