นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) เผยถึง การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการทำ Contract Farming กับบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดอุบล ราชธานี ควบคู่กับโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่
BCG Model พบว่า มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ 13,704 ไร่ ได้ผลผลิตรวมปีละ 46,086 ตัน มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 6,768 บาทต่อปี เนื่องจากมีค่าจ้างแรงงานคนในการกำจัดวัชพืช จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไป
“เกษตรกรจะเริ่มลงมือปลูกในช่วง มี.ค.-พ.ค. มีระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวโดยเฉลี่ย 1 ปี และมีการเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3,363 กก.ต่อปี บริษัทรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์จากเกษตรกรทั้งหมดในราคาประกันมันสำปะหลังอินทรีย์เชื้อแป้ง 25% อยู่ที่ กก.ละ 3.45 บาท ได้สูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไป กก.ละ 0.65 บาท เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 9,416 บาท เฉลี่ยแล้วได้กำไรไร่ละ 2,648 บาท”
...
โดยผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านมาตรฐานอินทรีย์ไทยและมาตรฐานสากล ได้แก่ 1) มาตรฐาน มกษ 9000-2552 หรือ Organic Thailand 2) มาตรฐานอินทรีย์ USDA-NOP (สหรัฐอเมริกา) 3) มาตรฐานอินทรีย์ EU (ยุโรป) 4) มาตรฐานอินทรีย์ JAS (ญี่ปุ่น) 5) มาตรฐานอินทรีย์ Korean (เกาหลี) และ 6) มาตรฐานอินทรีย์ China (จีน)
“จังหวัดอุบลราชธานีและภาคี จะยังคงเดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกระดับการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืนให้เกษตรกร โดยบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มกว่า 50% ประมาณ 30,000 ไร่ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการวางแผนทำการเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย เช่น ปลูกสมุนไพร ถั่วต่างๆ หรือหันมาปลูกเพื่อจำหน่ายท่อนพันธุ์ เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุน เวียนแบบยั่งยืนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน” ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าว.
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม