ปี 2023 แบบนี้ใครๆ ก็บอกกันว่ารายได้ทางเดียวไม่พอแล้ว มันต้องมีรายได้หลัก รายได้รอง รายได้เสริม ถึงจะเอาตัวรอดได้ แต่อยู่ดีๆ จะไปหาช่องทางทำเงินที่ไหน สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ใครก็รู้ว่าไม่ง่าย เอายังไงดีละว้า

ขณะกำลังคิดไม่ตก อยู่ดีๆ เหมือนสวรรค์ทรงโปรดเลื่อนไปเจอโพสต์ในแอปพลิเคชันสีฟ้า ขึ้นข้อความโฆษณาตัวหนาๆ ชวนลงทุนกับบริษัทชื่อดังในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลองอ่านรายละเอียดถึงกับระบุว่ามีโอกาสรับผลตอบแทนสูงถึง 30% เลยทีเดียว นั่งคำนวณเล่นๆ ลงทุนแสนรับเลยสามหมื่นทุกวัน คุณพระ! นี่มันโอกาสหารายได้เสริมงามๆ เลยนี่นา แถมยังได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนอีกต่างหาก เหลือบไปดูชื่อเพจก็น่าเชื่อถือแถมยังมีรูปผู้บริหารคนดังมาช่วยการันตีอีก แบบนี้ก็คงจะพอไหว ลองทักไปดูสักหน่อยก็คงไม่เสียหายละมั้ง...

สุดท้ายจากความหวังจะมีรายได้เสริม กลายเป็นต้องน้ำตาซึม เมื่อเพจลงทุนที่ดูเป็นมิตรแท้ที่จริงคือ มิจฉาชีพ ต่างหาก!

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันบรรดาโจรออนไลน์ต่างมีการอัปสกิลขึ้นไปทุกวัน และยังมีการหลอกหลายชั้นด้วยความแนบเนียนเพื่อไม่ให้เหยื่อจับได้ไล่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่มิจฉาชีพเหล่านี้เก่งมากๆ คือการเล่นงานเข้าที่จุดอ่อนของเหยื่อ เช่นในปัจจุบันที่เทรนด์การลงทุนเพื่อหา Passive Income กำลังมา และยังเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนต่างมองหารายได้เสริมเพื่อช่วยซัพพอร์ตการเงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โจรเหล่านี้ก็มีการออกแบบกลลวงในรูปแบบการ “หลอกลงทุนในหุ้นบริษัทดัง” อย่างที่เราก็คงจะเห็นกันได้บ่อยครั้งเมื่อไถฟีดในแอปฯ โซเชียลมีเดีย

โพสต์เชิญชวนลงทุนเหล่านี้จะมีรูปแบบที่คล้ายๆ กันคือการยิงโฆษณามาจากเพจที่เกี่ยวกับการลงทุนซึ่งดูน่าเชื่อถือ เมื่อกดเข้าไปดู Profile จะพบว่ามีการลงคอนเทนต์เกี่ยวกับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ทำให้ยากจะประเมินว่านี่คือเพจจริงหรือเพจมิจฉาชีพกันแน่ หรือในบางครั้งยังแนบเนียนกว่านั้นด้วยการสร้างเพจบริษัทปลอมขึ้นมาแล้วคัดลอกคอนเทนต์จากเพจจริงมาลง ซึ่งถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็ยากจะพบความแตกต่าง

ขณะเดียวกันเนื้อหาในโพสต์เชิญชวนก็มีการออกแบบมาอย่างดี มีทั้งภาพของนักธุรกิจชื่อดัง และยังมีการเน้นย้ำด้วยข้อความที่พร้อมดึงให้คนอ่านหยุดดู เช่น ชวนลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมเกษียณ หรือบอกว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่กำลังมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ด้วยการลงทุนในบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. (หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงการเน้นย้ำว่าแม้แต่มือใหม่ก็ลงทุนได้เพราะมีโบรกเกอร์มืออาชีพช่วยดูแล เป็นต้น เมื่อรวมกับข้อความที่ระบุว่าอาจมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากถึง 30% เข้าไปด้วยแล้ว แม้แต่คนที่มั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งก็อาจจะเผลอการ์ดตกแล้วเปิดช่องให้เหล่ามิจฉาชีพเล่นงานเอาได้ง่ายๆ

เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อมากไปกว่านี้ ทางด้าน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หรือ CMDF ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พันธมิตรภาคตลาดทุนทั้งองค์กรธุรกิจและหน่วยงานรัฐ รณรงค์ร่วมมือกันจับปลอมหลอกลงทุน หวังให้ทุกท่านรอดพ้นจากการโดนหลอกลงทุนที่ปัจจุบันมีวิธีการหลากหลายรูปแบบด้วยการเผยกลวิธีหลอกล่อเหยื่อที่โจรมักใช้ลวงคนไปลงทุนจนหมดตัว โดยในเบื้องต้นแนะนำให้ลองสังเกตวิธีการที่โจรมักใช้เวลาพูดคุยกับเหยื่อ ซึ่งมีรูปแบบคร่าวๆ ดังนี้

1 หลอกล่อด้วยผลตอบแทน: การันตีผลตอบแทนระดับ 30% หรือมากกว่า และยังได้รับรวดเร็วภายใน 1 วัน

2 แอบอ้างให้ดูน่าเชื่อถือ: อ้างอิงถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง/ผู้บริหารคนดัง หรือเอกสารที่ดูน่าเชื่อถือ

3 เร่งรัดให้ตัดสินใจ: เร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงินในระยะเวลาที่กำหนด

4 โอนเข้าบัญชีส่วนตัว: และเมื่อสอบถามมักมีข้ออ้างที่ดูน่าเชื่อถือ ไม่อย่างนั้นจะหมดสิทธิ์

5 หลอกเหนือชั้น: ให้ชวนเพื่อนมาร่วมลงทุนหรือบอกให้ลงทุนมากขึ้นเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น

และเพื่อพิสูจน์ว่าวิธีการนี้ได้ผลจริงหรือไม่ ทีมงานไทยรัฐออนไลน์จึงได้ลองทักไปคุยกับมิจฉาชีพหลอกลงทุนตัวจริง ซึ่งต้องบอกเลยว่างานนี้มีแต่คำว่าเป๊ะ! ใครกำลังจะทักไปคุย ขอให้หยุดความคิดทันทีแล้วมาลองอ่านเนื้อหาแชตที่เราแคปมาแชร์ให้ดูกันในครั้งนี้ก่อนดีกว่า

เบื้องต้นทีมงานไปเจอโพสต์ที่ดูแล้วเข้าข่าย เป็นการยิงโฆษณาเชิญชวนลงทุนในหุ้นบริษัทพลังงานชื่อดังโดยเพจชื่อ “Investment Consultation” ที่ดูน่าเชื่อถือมาก มีการโน้มน้าวด้วยแคปชั่นที่กระตุ้นให้อยากลงทุน ขณะเดียวกันในภาพก็มีทั้งรูปผู้บริหารคนดังและระบุผลตอบแทนชวนตาลุกวาวคือสูงสุด 29% เลยทีเดียว เรียกว่ากาถูกทุกข้อ นี่มันพี่มิจชัดๆ

เมื่อเราไปคอมเมนต์ในโพสต์ว่าสนใจ อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพจจะขอคุยต่อทาง Inbox ซึ่งเป็นวิธีการล่อเหยื่อเบื้องต้นของมิจฉาชีพ และเมื่อทักไปหาทางนั้นก็ไม่รอช้า ต้อนรับขับสู้อย่างเป็นมิตร พร้อมเสนอทางเลือกการลงทุน 2 แบบ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ทักมาโดยมากคงไม่มีใครอยากรอนานๆ ก็กด 1 เลือกระยะสั้นไปเลยสิคะ

จากนั้น ฝ่ายตรงข้ามมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมโปรยเหยื่อด้วยการบอกว่าสามารถลงทุนขั้นต่ำได้เพียงแค่หลักพันต้นๆ เท่านั้น เพื่อทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ก่อนจะชวนไปคุยกันต่อที่ช่องทางไลน์

กำลังเพลินแบบนี้ ทีมงานไม่รอช้า แอดไลน์ไปคุยต่อทันที โดยไลน์ที่มิจฉาชีพเตรียมการไว้ก็จะมี Profile ที่ดูน่าเชื่อถือเช่นกัน อย่างที่ทีมงานเจอจะใช้ชื่อว่า investment consultant เพื่อให้ดูเหมือนผู้แนะนำการลงทุนทั่วไป หรือบางกรณีอาจจะเป็นชื่อและภาพ Profile บุคคลในชุดภูมิฐานหลอกให้คิดว่านี่คือพนักงานตัวจริง ซึ่งทันทีที่เราทักไป ทางนั้นก็พร้อมจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมทันที และยังยั่วยวนสุดฤทธิ์ด้วยการบอกข้อดีต่างๆ นานา และถึงแม้จะเทรดไม่เป็นก็มีโบรกเกอร์ช่วยดำเนินการ เรียกว่าตรงกับรูปแบบ “หลอกล่อด้วยผลตอบแทน”

คราวนี้ทีมงานลองทำเชิงไม่แน่ใจ ขอดูหลักฐานยืนยันของบริษัทด้วยได้ไหมล่ะ แน่นอนว่าพี่มิจก็ไม่พลาด ส่งเอกสารจดทะเบียนบริษัทมาให้ทันที กระบวนการนี้ต้องบอกว่าดูแนบเนียนอย่างมาก ตรงกับรูปแบบ “แอบอ้างให้ดูน่าเชื่อถือ” แต่หากลองคิดดูดีๆ จะพบว่าอะไรพวกนี้มันปลอมแปลงได้ง่ายสุดๆ ไม่อาจยืนยันความถูกต้องได้เลย

พอเราทำทีว่าพอใจกับหลักฐาน ทางนั้นก็ไม่รอช้า นำเสนอแผนการลงทุนให้เราทันที และยังมีตัวเลือกให้ด้วยจะลงทุนเท่าใดก็ได้ พร้อมเน้นย้ำถึงโอกาสได้ผลตอบแทน 10-30% และยังส่งข้อความกระตุ้นให้เลือกแผนทันที เป็นไปตามรูปแบบ “เร่งรัดให้ตัดสินใจ” เมื่อทีมงานตกลงโจรยังมีการทำเนียนแจ้งว่ากำลังให้ระบบรันหมายเลขบัญชีส่วนกลางเพื่อเปิดพอร์ตอีกด้วย จะทำการบ้านมาดีอะไรขนาดนั้น!

มาถึงส่วนสำคัญ เสมือนหมัดน็อกที่โจรตั้งท่ารอมาอย่างดี กะเอาตายในครั้งเดียวหลังจากบิลด์มานาน นั่นคือการแจ้งให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อเปิดพอร์ต แน่นอนว่าตัวนามบัตรจะถูกออกแบบมาอย่างดีและดูน่าเชื่อถือมาก แต่จุดสังเกตสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่านี่แหละโจรแน่นอนคือเจ้าของบัญชีดังกล่าวจะไม่ใช่บริษัทแต่เป็นในนามบุคคล ซึ่งโดยมากแล้วนี่คือบัญชีม้าสำหรับทำธุรกรรมสีเทาโดยเฉพาะ เรียกว่าตรงกับรูปแบบ “โอนเข้าบัญชีส่วนตัว” โดยหากเราทักไปว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้มิจฉาชีพก็จะมีคำตอบที่ฟังดูดีเตรียมไว้เรียบร้อย และยังสร้างความน่าเชื่อถือไปอีกขั้นด้วยการบอกว่าบัญชีมีอายุแค่ระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันมิจฉาชีพ ถึงจุดนี้ใครเผลอปล่อยการ์ดลงก็เป็นอันเรียบร้อย ลาก่อนเงินเก็บ

นอกจากนี้หากเราหวังรวยมากขึ้น ลองถามถึงความเป็นไปได้ในการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่า โจรเองก็ยังพร้อมแนะนำ บอกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ขอแค่ไว้ใจกันก็พอ ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบ “หลอกเหนือชั้น” นั่นเอง เมื่อมาถึงจุดนี้ก็น่าจะได้เวลาทีมงานโบกมือลา ขอตัวไปยืมเงินญาติสักครู่นะคะพี่มิจ ซึ่งใครจะลอกไปใช้เวลาต้องการตัดบทกับเหล่าโจรก็จัดไปได้เลยค่ะ ไม่ติดลิขสิทธิ์

จากแชตที่เราเอามาเผยในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความเก่งของเหล่าโจรหลอกลงทุนคือดูมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการลงทุนพอสมควร และยังมีการหลอกหลายชั้น มีความแนบเนียนในการคุย ทำให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับทุกคำตอบมาอย่างดี ชนิดที่หากเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าวงการหรือเป็นคนธรรมดาทั่วไปก็มีสิทธิ์ที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายมากๆ

ทีมงานไทยรัฐออนไลน์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเอาเบื้องหลังกลโกงมาเผยไต๋จะช่วยให้หลายๆ คนรอดพ้นจากการสูญเสียเงินก้อนโตที่ตั้งใจเก็บรักษามาเป็นอย่างดี หรือหากใครเห็นบทความนี้แล้วแชร์ต่อให้ญาติสนิทมิตรสหายก็ยิ่งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเหยื่ออีกทางหนึ่ง นอกจากนี้หากใครกำลังคิดจะลงทุน ทางที่ดีที่สุดคือลองเช็กข้อมูลบริษัทกันก่อนที่ https://www.sec.or.th/SECCheckFirst  ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลาง โดย ก.ล.ต. สำหรับตรวจสอบว่าเพจหรือช่องทางต่างๆ ที่เรากำลังติดต่ออยู่นั้นได้รับการรับรองอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือจะโทร. เช็กกับบริษัทโดยตรงเลยก็ได้เช่นกัน