โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ต.แม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน มีพื้นที่ทั้งหมด 74,494.9 ไร่ มีประชากร 2,325 คน 587 ครัวเรือน เป็นชาติพันธุ์ไทยพื้นเมือง ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหุบเขา ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ อาทิ นาข้าว ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และยางพารา

พื้นที่เกษตรกรรม 20,186 ไร่ ปลูกข้าวโพด 9,711.33 ไร่ คิดเป็น 48% มีการใช้สารเคมีสูง และพื้นที่เสื่อมโทรม มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และขาดน้ำสำหรับการทำการเกษตร เกิดหนี้สินมากและขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง

“สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้เข้าดำเนินงานพัฒนาเมื่อปี 2552 โดยมีรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 1.หลักการทำงานของโครงการหลวง ด้วยการวิจัยเพื่อเอาผลไปให้ชาวเขาได้ใช้ประโยชน์และเป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลายๆ ชนิด สำรวจและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำเกษตรกร หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานภายนอก”

...

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เผยถึงรูปแบบในการพัฒนาโครงการหลวงแม่จริม หนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อันแสดงถึงผลสัมฤทธิ์ที่สร้างคุณค่าแก่ประชาชน สอดคล้องนโยบายภาครัฐและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ทำให้ สวพส.คว้ารางวัลเลิศรัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0 ประจำปี 2566

ด้วยมีเจ้าหน้าที่ สวพส.ร่วมลงมือปฏิบัติกับผู้นำอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างการยอมรับและเชื่อถือกับชุมชน โดยยึดตามแนวทางแผนพัฒนาด้านงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง แผนบูรณาการระดับจังหวัดน่าน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมีการนัดหมายพบปะผ่านการประชุม มีการแลกเปลี่ยนผ่านเวทีผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ 550 ราย ผ่านกิจกรรมงาน KM DAY ที่นับว่าเป็นการสรุปบทเรียนบทบาทผู้นำเกษตรกร สร้างพลังใจ พลังความคิด และทักษะให้กับผู้นำเกษตรกร

กล่าวโดยสรุปคือ การพัฒนาบนฐานความรู้ที่เหมาะสม มีการใช้ผู้นำเป็นหลัก และความร่วมมือของทุกฝ่าย เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สูง

จนทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี จากพื้นที่ปลูกข้าวโพด 677 แปลง เนื้อที่ 9,711.33 ไร่ เปลี่ยนเป็นเหลือพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 179 แปลง 2,645.68 ไร่ พื้นที่ลดลง 7,065.65 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.94

ก่อเกิดผลผลิตให้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนา ปลูกพืชตระกูลถั่วได้ดี ข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี ผลผลิตสามารถส่งจำหน่ายตลาดชุมชน ห้างแม็คโคร เกษตรกรได้รับการส่งเสริม มีหนี้สินลดลง ชุมชนมีการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญส่งผลให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันลดน้อยลง

...

ปัจจัยของความสำเร็จ ชุมชนตำบลแม่จริมมีผู้นำและชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รู้สึกภาคภูมิใจที่ไม่เผา ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม และเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ มีแปลงเรียนรู้ สามารถใช้เป็นจุดถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อขยายไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆเพิ่มขึ้น.


ชาติชาย ศิริพัฒน์

...

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม