ไม่รู้ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า หรือเกินคุ้มกันแน่ กับการใช้เม็ดเงินภาษีประชาชนไป 6 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาท่วมแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่ 52 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,382 ไร่ คิดเฉลี่ยแล้วใช้เงินลงทุนไปไร่ละ 366.25 บาท...ลงทุนครั้งเดียวปัญหาจบ

จนชาวบ้านต้องตัดพ้อ นับแต่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหมี อ.กุดชุม จ.ยโสธร ดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2564 ไม่เคยได้รับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้งเหมือนชาวบ้านที่อื่นเลย

“ตำบลของเราเหมือน กับพื้นที่อื่นๆในภาคอีสาน เจอท่วมแล้งเป็นประจำแบบปีเว้นปี แต่มาปี 2558-2561 เกิดเหตุการณ์ค่อนข้างแปลก คือ ชาวบ้านเจอปัญหาภัยแล้งทยอยเพิ่มขึ้นมาทุกปี ปีละ 1 หมู่บ้าน 4 ปี เจอไป 4 หมู่บ้าน เป็นภัยแล้งในระดับที่ทาง อบต.ต้องสั่งซื้อน้ำไปส่งให้ชาวบ้านได้ใช้กัน เพราะเมื่อก่อนไม่เคยแล้งถึงขนาดนี้ และจากการสอบถามความต้องการของชาวบ้าน เราได้รับคำตอบที่เหมือนกัน คือ ต้องการน้ำประปาหมู่บ้าน ขุดบ่อบาดาล

ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านต้องการ มันจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะต้นตอของปัญหามันอยู่ตรง ทำไมบ่อบาดาล แหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ถึงไม่มีน้ำต้นทุน น้ำหายไปไหนหมด จนกระทั่งกลางปี 2561 สมาคมนายกฯ อบต.ภาคอีสาน ได้จัดการประชุมและมีการนำผู้เชี่ยวชาญเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินมาบรรยายให้ฟังกัน เราเลยสนใจที่จะนำธนาคารน้ำใต้ดินมาแก้ปัญหาในพื้นที่ และทางนายกฯ อบต.หนองหมี ได้เห็นชอบส่งคนไปอบรมเรียนรู้ และกลับมาลงมือทำ พร้อมกับของบประมาณสนับสนุนจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น”

...

นายกร บุระวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน อบต.หนองหมี หัวเรี่ยวหัวแรงในการทำโครงการ เล่าถึงที่มาของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ที่เริ่มจากการนำแผนที่ตั้ง ต.หนองหมี มาวางผังกำหนดทิศทางในการขุดสระขุดบ่อตามที่ได้ไปเรียนรู้มาวางผังให้บ่อเปิดอยู่ในทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศทางที่แม่น้ำใต้ดินจะไหลผ่านมา กำหนดจุดขุดบ่อเปิดไว้ทั้งหมด 34 บ่อ ในจุดที่เคยเป็นแหล่งน้ำสาธารณะดั้งเดิม แต่ละบ่อขนาดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แต่ทุกบ่อจะขุดให้ลึกไปจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

“นอกจากนี้ เรายังได้ขุดฟื้นฟูวังน้ำในลำห้วย ลำคลองด้วย เพราะในอดีตวังน้ำจะเป็นส่วนที่ลึกที่สุดในแม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยในระยะหลังการขุดลอกลำคลอง ตามระเบียบราชการนั้นต้องทำให้พื้นท้องลำน้ำราบเรียบเสมอกัน หวังเพียงเพื่อแค่ระบายน้ำอย่างเดียว วังน้ำเลยถูกถมไปหมด น้ำใต้ดินเลยไม่ถูกเติมลงไป และไม่มีโอกาสซึมขึ้นมา หน้าแล้งเลยไม่มีน้ำใช้กันเหมือนในอดีต”

สำหรับธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อปิดนั้น กร บอกว่า ทาง อบต.จะให้ชาวบ้านช่วยกันขุดครอบครัวละ 2-3 บ่อในพื้นที่ตัวเอง ที่เป็นจุดเมื่อมีฝนตกแล้วมักจะมีน้ำท่วมขัง ทำเป็นบ่อปิดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. ลึก 2 เมตร ภายในบ่อจะใส่เศษวัสดุก่อสร้างที่ถูกทุบทิ้ง เพื่อให้น้ำฝนที่ตกมาอย่างล้นเหลือจะได้มีช่องทางไหลซึมลงไปใต้ดิน เป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง...ทั้งตำบลวันนี้ ธนาคารน้ำใต้ดินแบบบ่อปิด 2,000 กว่าบ่อ

หลังจากใช้เวลาทำโครงการมาร่วม 2 ปี โครงการแล้วเสร็จ...นับแต่ปี 2564 เป็นต้นมา คนหนองหมีนอกจากจะไม่ได้รับเงินเยียวยาท่วมแล้งแล้ว ถึงฤดูแล้งที่ไม่เคยทำอะไรกินกันได้ วันนี้มีสวนผักให้ทำกิน มีเงินได้มากกว่าเงินเยียวยาที่ทางการหยิบยื่นมาให้ซะอีก.

...

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม