เลขาฯ สพฉ.แจง กรณียุบสาย หน่วย 1669 ให้ไปรวมกับ 191 แทน เนื่องจากมีสายเรียกเข้าที่ไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยฉุกเฉินมากถึงร้อยละ 70 มีเพียงร้อยละ 30 ที่เกี่ยวกับสาเหตุทางการแพทย์จริงๆ แต่ต้องรอทางตำรวจเตรียมระบบให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ยันไม่กระทบกับประชาชนผู้แจ้งเหตุแน่นอน ด้าน พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สปพ. เผยปกติมีประชาชนแจ้งขอรถฉุกเฉินมาที่ 191 เป็นประจำอยู่แล้ว พร้อมรับเรื่องและจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ต.ค. ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีแนวคิดการยุบรวมหมายเลขฉุกเฉิน 1669 ไปใช้หมายเลขฉุกเฉิน 191 ประชาชนแสดงความกังวลว่า ปกติการโทร.เข้าสายด่วน 191 มักให้ รอสาย หากเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากล่าช้าอาจเกิด ความสูญเสียได้ว่า ขณะนี้รอทางตำรวจว่าจะดำเนินการ เรื่องนี้อย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อใด เพราะยังเซตระบบไม่เสร็จ และอยากขอให้ประชาชนอย่าเป็นกังวล เพราะหากมีการรวบสายกันจริงต้องไม่ให้ เกิดผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน

“เมื่อสายด่วน 191 วางระบบหรือเซตระบบเรียบร้อยแล้ว ในหลักการรวมสายด่วน 1669 กับ 191 สพฉ.มีเป้าหมายคือ การรวมนั้นต้องไร้รอยต่อ และประชาชนต้องปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันการโทร. เข้าสายด่วน 1669 ร้อยละ 70 ไม่ได้เป็นเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น แจ้งรถเสีย งูเข้าบ้าน รวมทั้งเซ็กซ์โฟนยังมี ส่วนการ เจ็บป่วยฉุกเฉินมีร้อยละ 30 แต่ละปีมีสายโทร.เข้า สายด่วน 1669 ปีละ 6 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้ 4 ล้านครั้ง เป็นเรื่องอื่นๆ และเป็นเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ สพฉ.ออกปฏิบัติงานจริงมาจากการโทร. 2 ล้านครั้ง” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

...

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า ส่วนสายด่วน 191 มีการโทร.เข้าปีละ 5 ล้านครั้ง และข้อดีของสายด่วน 191 คือ จะแสดงหมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.เข้ามา พร้อมตำแหน่งที่โทร.หรือโลเกชัน จะทำให้เราทำงาน ได้เร็วขึ้น ดังนั้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิมคือ ประชาชนโทร.เข้าสายด่วน 191 เป็นอันดับแรก (First call) เพื่อคัดกรองก่อน หากเป็นเรื่องฉุกเฉินทางการแพทย์จะส่งต่อมาที่ 1669 (Second call) ใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที การรวมกับสายด่วน 191 เพื่อให้กรอง เบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นการโอนสาย ไม่ใช่ ให้ประชาชนโทร.ใหม่ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่รับสายด่วน 191 จำเป็นต้องเข้ารับการอบรมกับ สพฉ.เพื่อให้ทราบ ถึงแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉิน

ที่กองบังคับการตำรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สปพ. กล่าว ถึงกรณีเดียวกันว่า ปกติมีผู้โทร.มาเหตุฉุกเฉิน ติดต่อประสานงานรถพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บผ่านสายด่วน 191 เป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากเกิดเหตุเร่งด่วน ผู้แจ้งบางรายไม่ได้โทร.หา หน่วยงานโดยตรง เช่น นักท่องเที่ยวบางครั้งโทร.มาแจ้ง 191 เจ้าหน้าที่ได้เตรียมล่ามไว้พร้อมพูดคุย กับผู้แจ้ง ก่อนประสานงานตำรวจท่องเที่ยว หลายจังหวัด มีการพัฒนาระบบการสื่อสารสามารถพูดคุยพร้อมกัน 3 สาย ทั้งนักท่องเที่ยว ตำรวจ 191 และตำรวจท่องเที่ยว สายด่วน 1155 ขณะนี้กำลังขยายพื้นที่เพิ่มเติมให้มากขึ้น ส่วนการแจ้งขอรถฉุกเฉินรถพยาบาลผ่านสายด่วน 191 บก.สปพ. พร้อมรับเรื่องและจะเร่งประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป


อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่