เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่ตรวจป่า พนักงานดับไฟป่า บุคลากรนับหมื่นคนที่ทำหน้าที่ไม่ต่าง
จาก “ผู้ปิดทองหลังพระ” ด้วยการฝังตัวลาดตระเวนเสี่ยงภัยอยู่ทั่วประเทศ คอยปกป้องผืนป่า สัตว์ป่าให้รอดพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมบัติของชาติไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป
บ่อยครั้งที่เกิดกรณีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งมีทั้งที่เป็นข่าวสู่สาธารณะและบางครั้งก็ไม่ปรากฏข่าว และส่วนใหญ่พวกเขาเหล่านี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่แทบไม่มีสวัสดิการใดๆ นอกจากเงินเดือนน้อยนิด เฉลี่ยอยู่ที่ 6,900- 9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับภารกิจเฝ้าผืนป่าที่ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวและต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลาแทนคนทั้งประเทศ
...
แต่ถึงวันนี้มี “ข่าวดี” และเป็นเหมือนสัญญาณที่การันตีว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจป่า พนักงานดับไฟป่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง เพราะรัฐบาลก็ตระหนักถึงความสำคัญของพวกเขา
โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2566 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือถึงอธิบดี
กรมป่าไม้ แจ้งอนุมัติค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจป่าและพนักงานดับไฟป่า จากอัตราไม่เกิน 9,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 11,000 บาทต่อคนต่อเดือน หลังจากไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมคือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลากว่า 11 ปี!
ทั้งนี้ เงินเดือนใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป
“พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยในสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ตรวจป่า พนักงานดับไฟป่าและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาก เพราะตอบแทนและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มากและส่วนมากไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่เป็นเพียงพนักงานราชการตามสัญญาจ้างหรือเป็นลูกจ้างทีโออาร์ จึงไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหมือนข้าราชการทั่วไป มีเพียงสิทธิบัตรทองเหมือนประชาชนธรรมดาเท่านั้น กรมป่าไม้จึงได้มีการประชุมหารือกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอทำความตกลงอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ตรวจป่า จำนวน 2,002 อัตราและพนักงานดับไฟป่า จำนวน 290 อัตรา รวม 2,292 อัตรา จาก 9,000 บาทต่อเดือน เป็นไม่เกิน 11,000 บาทต่อเดือน หลังปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 ประกอบกับสภาพของเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น และค่าตอบแทนที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กรมป่าไม้ ในอัตราไม่เกิน 9,000บาท ตั้งแต่ปี 2555 นั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมา 11 ปีแล้ว ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะภารกิจของกรมป่าไม้ ต้องออกไปลาดตระเวนและพักแรมในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดกับสุขภาพ ทั้งจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค ภัยอันตรายต่างๆที่มีอยู่ในป่า และอันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่ด้วย” นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เล่าถึงเบื้องหลังการเจรจาขอปรับค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจป่าและพนักงานดับไฟป่า
นายสุรชัย ยังเล่าถึงความพยายามก่อนจะประสบความสำเร็จด้วยว่า กรมป่าไม้มีความพยายามที่จะปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตรวจป่าและพนักงานดับไฟป่าให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน มีการเพิ่มสวัสดิภาพและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต อันเป็นผลมาจากกฎหมายพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพื่อให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจป่า และพนักงานดับไฟป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
...
“การจ้างเจ้าหน้าที่ตรวจป่า และพนักงานดับไฟป่า ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นราษฎรในท้อง ถิ่น ผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะการเดินป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ จึงมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของกรมป่าไม้ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,221 ป่าทั่วประเทศ กรมป่าไม้ ไม่เคยละเลยเจ้าหน้าที่ตรวจป่า พนักงานดับไฟป่าและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพราะชีวิตของพวกเขามีค่า พวกเขาคือคนของแผ่นดิน เป็นเพื่อนร่วมงาน เสียสละ จากนี้ กรมป่าไม้จะมีการเพิ่มสวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ” อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุ
...
นั่นคือความพยายามที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ตรวจป่า พนักงานดับไฟป่าและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้เกือบ 5 พันคนที่ต้องออกตรวจตรา ลาดตระเวนรับผิดชอบพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศถึง 65 ล้านไร่ มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2565 กรมป่าไม้ก็ได้ทำประกันชีวิตและประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งที่เป็นลูกจ้างทีโออาร์และพนักงานราชการที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าที่ไม่มีสวัสดิการทั่วประเทศ ประมาณ 4,500 คนมาแล้ว
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การอนุมัติค่าตอบแทนเป็นส่วนหนึ่งของการเติมขวัญและกำลังใจให้ “ผู้พิทักษ์สมบัติชาติ” ที่ต้องทำงานบนความเสี่ยงเพื่อปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าไว้ให้ลูกหลาน
แต่สิ่งที่อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคือ ความจริงใจต่อการดูแลคนที่ปกป้องทรัพยากรของชาติ แม้ว่าปฏิบัติการแต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จ สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ แต่หลายครั้งก็ต้องแลกด้วยชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องตระหนักถึงคุณค่าของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าด้วยการให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะเดินหน้าดูแลผืนป่าต่อไป.
...
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่