จากการเสวนา “สิทธิเด็กไทยกับความปลอดภัยทางถนน” นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ออกนอกบ้านมากขึ้นและมีการเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ การเดินทางจึงมีความเสี่ยง และหากไม่มีการจัดรูปแบบการเดินทางอย่างเหมาะสม จะทำให้อัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนมีจำนวนสูงขึ้น จึงต้องมีการพิจารณากำหนดรูปแบบการขนส่งที่มีความปลอดภัย

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2562 โดยการสนับสนุนของ สสส. พบว่า คนไทยสวมหมวกกันน็อกเฉลี่ย 45% กลุ่มเด็กโต-เยาวชน สวมเพียง 10-20% เป็นเด็กเล็กเพียง 8% สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพปี 2564 ถึงความเสี่ยงสำคัญของเด็กเยาวชน อายุ 15-24 ปี พบว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์กว่า 1,917,610 คน กลุ่มอายุ 15-19 ปี 49% มีการดื่มแล้วขับ ในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ เด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บรักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 800-1,000 คนต่อปี ส่วนเรื่องของรถรับ-ส่ง นักเรียน พบว่า ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุถึง 30 ครั้ง เกิดอุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียน 27 ครั้ง อุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ 2 ครั้ง ลืมเด็กบนรถ 1 ครั้ง เฉลี่ยเกือบเดือนละ 3 ครั้ง เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากปี 2564 และที่น่าสลดใจคือมีการลืมเด็กบนรถรับ-ส่งนักเรียน 11 ปี 11 ศพ (ปี 2555-2565)

“คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ สสส.และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ร่วมกันสร้างมาตรการความปลอดภัยและบริหารจัดระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ปรับปรุงทางม้าลายให้มีมาตรฐานความปลอดภัย สนับสนุนการกำหนดความเร็วที่ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมงบริเวณหน้าโรงเรียนและเขตชุมชน ผลักดันให้มีหลักสูตรการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ “ความปลอดภัยทางถนน” ในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาที่ชัดเจน และขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงคมนาคม (คค.) มีนโยบาย ดูแลความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน.

...