พระพุทธรูปราชนิยม ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือปางห้ามญาติ คือพระยืนที่ยกสองฝ่ามือแบข้างหน้า
ความนัยที่พอรู้ๆกัน ...ในรัชกาลนี้ ในหมู่พระญาติ และขุนนาง มีความแตกแยกทางการเมืองมาก ทรงสร้างพระพุทธรูปปางนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงพระเจตนา...“อย่าทะเลาะเบาะแว้งกันเลย”
บ้านเมืองเราตอนนี้ มีแต่เรื่องร้ายๆ บีบคั้นหัวใจ...ผมพยายามเงี่ยหูฟัง มีพระอาจารย์รูปไหน ออกมาเทศนา...“กัณฑ์ห้ามพระญาติ” บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ยิน
มี “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ชำระ-เพิ่มเติม พ.ศ.2551” ของท่านอาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ใกล้มือ ผมตั้งใจเปิดหา จนเจอคำว่า “แผ่เมตตา”
แน่ใจว่า นี่ล่ะ! ใช่แล้ว จึงขออาราธนา...คัดลอกเอาของท่านมาบอกต่อ ดังต่อไปนี้
แผ่เมตตา ตั้งจิตปรารถนาดี ขอให้ผู้อื่นมีความสุข
คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า...“สัพเพ สัตตา อเวรา อัพยาปัชฌา อนีฆา สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ”
แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย (ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น (จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด) อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด) อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด)
อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด
(ข้อความในวงเล็บ เป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาในคำแปลเป็นไทย)
ผู้เจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ จนจิตมั่นในเมตตา มีเมตตาเป็นคุณสมบัติประจำใจ จะได้รับอานิสงส์ คือผลดี 11 ประการคือ
1 หลับก็เป็นสุข 2 ตื่นก็เป็นสุข 3 ไม่ฝันร้าย 4 เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย 5 เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย 6 เทวดาย่อมรักษา 7 ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ หรือศัสตราวุธ 8 จิตเป็นสมาธิง่าย 9 สีหน้าผ่องใส
...
10 เมื่อจะตาย ใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ
11 ถ้ายังไม่บรรลุคุณวิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
อนึ่ง การแผ่เมตตานี้ สำหรับท่านที่ชำนาญ เมื่อฝึกใจให้เสมอกันต่อสัตว์ทั้งหลายได้แล้ว จะทำจิตใจให้คล่องในการแผ่ไปในแบบต่างๆ
แยกได้ 3 อย่าง คือ 1 แผ่ไปทั่วอย่างไม่มีขอบเขต เรียกว่า “อโนธิโสผรณา” (อย่างคำแผ่เมตตาที่ยกมาแสดงข้างต้น)
2 แผ่ไปโดยจำกัดขอบเขต เรียกว่า “โอธิโสผรณา” เช่นว่า ขอให้คนพวกนั้นพวกนี้ ขอให้สัตว์เหล่านั้นเหล่านี้ จงเป็นสุข
3 แผ่ไปเฉพาะทิศเฉพาะแถบ เรียกว่า “ทิสาผรณา” เช่นว่า ขอให้มนุษย์ทางทิศนั้นทิศนี้ ขอให้ประดาสัตว์ในแถบนั้นแถบนี้ หรือย่อยลงไปอีกว่า ขอให้คนจนคนยากไร้ ในภาคนั้นภาคนี้ จงมีความสุข
เนื้อหาคำสวดแผ่เมตตา สุ้มเสียง ท่วงทำนอง ที่ชาววัดทั่วไป โดยเฉพาะสายอุบาสิกา (แม่ชี) ผมจำฝังใจมาจากวัดเขาย้อยตั้งแต่ยังเด็กว่า เสียงแม่ชีทองห่อ ที่สวดนำ และเสียงแม่ชีที่สวดตาม ไพเราะจับใจเหลือเกิน
ลองสวด และทำใจตาม...น่าจะช่วยให้หัวใจ ที่หดหู่เหงาเศร้า ฟุ้งซ่านรำคาญ ลังเลสงสัย...ไม่เชื่อในกฎกติกา หรือความเป็นธรรม...ที่เกิดแล้วเกิดเล่า จนเริ่มแน่ใจ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ใจดวงที่ขุ่นหมองคับข้อง ก็จะผ่อนคลายผ่องใสได้เอง.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม