กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม สะท้อนข้อมูลระหว่างปี 2561-2565 พบว่า มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 12-18 ปี กระทำความผิดรวม 134,747 คดี เฉพาะในปี 2565 มีเด็กและเยาวชนทำผิด 12,192 คดี...เป็นเพศชายร้อยละ 90.49...เพศหญิงร้อยละ 9.51

น่าสนใจว่าร้อยละ 68.67 ของคดีทั้งหมด ผู้กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับบิดามารดา หรือบิดามารดาแยกกันอยู่...ร้อยละ 66.89 เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยมีทั้งทำงานและว่างงาน

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก

นอกจากนี้ ถึงแม้เด็กและเยาวชนจะออกจากสถานพินิจแล้วก็ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อม ครอบครัว ชุมชน ที่ผลักไส ตีตรา ไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม จนกลับมากระทำผิดซ้ำ

“อาหาร”...เป็นหนึ่งในสี่ของปัจจัยเพื่อการดำรงชีพของทุกคน อาหารดีมีคุณภาพก็สามารถนำไปหล่อเลี้ยงชีวิตของแต่ละคนให้เจริญเติบโตขึ้นมาตามวัย เป็นไปตามความประสงค์ของแต่ละชีวิต แต่ถ้าอาหารได้มาไม่ดี ไม่มีคุณภาพแล้ว ก็มีโอกาสที่จะทำให้การเจริญเติบโตขึ้นมาของร่างกายไม่เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น

...

...จะเรียกว่ามีแต่ “ปริมาณ” แต่ไม่มี “คุณภาพ” ก็ว่าได้

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า อาหารของเด็กมีอยู่สองประการ ประการแรก...เป็นอาหารทางกายที่เด็กจะต้องได้รับในจำนวน 3 มื้อ

คือ...มื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น มื้อเช้าก็ควรจะได้รับจากบ้านหรือภายในครอบครัวก่อนที่เด็กจะเดินทางไปโรงเรียน

“มื้อกลางวันเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุดที่เด็กจะได้รับจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาจัดให้ มื้อเย็นก็คือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ปกครองหรือบุคคลภายในครอบครัว จะต้องจัดหามาเลี้ยงให้ครบตามหลักโภชนาการ”

สำหรับอาหารมื้อกลางวันนี้เด็กได้รับจากทางราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เราเคยได้ทราบข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าอาหารไม่ตรงปกบ้าง อาหารไม่ถูกสุขลักษณะบ้าง อาหารมีปริมาณน้อยเกินไปที่เด็กควรจะได้รับบ้าง จนเกิดการทักท้วงหรือร้องเรียนมาจากเด็กนักเรียนหรือผู้ปกครองมาโดยตลอด

สุดท้าย...มักจบลงด้วยดีด้วยการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ประการที่สอง...คืออาหารทางใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยทีเดียวเพราะเด็กแต่ละคนจะต้องมีความเจริญทั้งสองส่วนไปด้วยกัน คือความเจริญทางกายและความเจริญทางจิตใจ ความเจริญทางกายก็ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนความเจริญทางจิตใจก็เป็นภาระและหน้าที่ของผู้ปกครองเด็กและครูโดยตรง

“เมื่อเด็กเดินหน้าเข้าสู่สถานศึกษาก็เป็นภาระหน้าที่ของครูบาอาจารย์บุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องตระหนักและรับผิดชอบในส่วนนี้ เมื่อเด็กกลับเข้ามาสู่ครอบครัวแล้วก็เป็นบทบาทภาระหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวที่จะต้องปลูกฝังความรัก ความสุข ความอบอุ่นให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว”

“อาหารทางใจ” หรือ “ความสุขทางใจ” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

เมื่อเด็กมีความสุขทางใจแล้วโอกาสที่จะรับรู้และเรียนรู้เอาแต่สิ่งที่ดีก็จะติดตามมา เพราะเด็ก “มีความสุขทางใจ” แล้ว กระนั้นในทางตรงกันข้ามเด็กจะไม่รับรู้หรือเรียนรู้เลยเมื่อเด็กไม่มีความสุขทางใจ

ยิ่งร้ายไปกว่านั้น “เด็ก” ก็จะเกิดการปฏิเสธในสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองหวังดีมอบให้ ดังอาหารที่จะมอบให้เด็กจึงควรจะมีทั้งอาหารทางกายและอาหารทางใจควบคู่กันไปด้วย

...

เด็กซึ่งเป็นลูกหลานในครอบครัวของเรา ในชุมชนหรือหมู่บ้านของเราและในสังคมของเรา จึงจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็น “เยาวชนพลเมือง” ที่ดีให้กับสังคม ประเทศชาติ เพราะผู้ใหญ่ได้ให้อาหารทั้งกายและใจ

มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน ได้จัดกิจกรรมและโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร การศึกษา การฝึกอบรมบ่มนิสัยพัฒนาจิตใจเด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาสในสังคม ทั้งในชุมชนเมืองและในชนบทถิ่นทุรกันดารมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2527

จนถึงปัจจุบันได้มีโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้ด้อยโอกาสในสังคมขณะนี้ 14 โครงการ มีทั้งเลี้ยงเด็กอยู่ประจำ มีทั้งมาเรียนหนังสือมาเช้า...เย็นกลับ มีทั้งไปให้ความช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลในชนบทที่ตกทุกข์ได้ยาก มีทั้งช่วยบุคคลเป็นหมู่คณะที่ประสบภัยธรรมชาติหรือได้รับความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

การดำเนินกิจกรรมและโครงการได้อาศัยประชาชนในสังคมผู้มีจิตเมตตาและศรัทธา ได้บริจาคให้ตามมีตามเกิด มีบ้างไม่มีบ้าง ยิ่งหนักสุดเมื่อ 3 ปีย้อนหลังไป ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แทบจะไม่เหลืออะไรเลย โครงการต่างๆที่มีอยู่ต้องชะลอหรือพักไว้ก่อน เพราะค่าใช้จ่ายไม่มีอะไรเหลือเลย

...

...มาบัดนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวโน้มว่ากำลังจะเป็นปกติ มูลนิธิกลุ่มแสงเทียนก็จะฟื้นฟูโครงการต่างๆที่มีอยู่นี้ 14 โครงการให้เกิดขึ้นมาตามปกติเหมือนในอดีต ทั้งนี้โครงการเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน ประชาชนทุกพื้นที่ในสังคมช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ

แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ แต่ก็ยังดีว่ายังมีลมหายใจกันอยู่อีกต่อไป หวังว่าวันข้างหน้าชีวิตก็คงจะดีกว่านี้แน่ เราจะได้เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ความหวังที่จะได้มีโอกาสเลี้ยงดู ให้การศึกษา ฝึกอบรมบ่มนิสัย พัฒนาจิตใจ เด็กด้อยโอกาสตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

“อาหาร” คือหนึ่งในสี่ของปัจจัยเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ อาหารที่มูลนิธิได้มาก็อาศัยข้าวก้นบาตรพระ ผู้มีจิตเมตตาบริจาคเพียงพอบ้าง ไม่เพียงพอบ้างก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมิได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการหรืองบประมาณจากทางรัฐแต่ประการใด จึงดำเนินกิจกรรม...โครงการต่างๆ ตามมีตามเกิด

พระมหาสมัย ย้ำว่า โครงการที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็มี โครงการเด็กอ่อนก่อนสาย...เลี้ยงเด็กเล็กก่อนวัยเรียนซึ่งมีชีวิตอยู่ในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร วันจันทร์-วันศุกร์...โครงการอบรมธรรมะวันหยุดคือเลี้ยงดู สอนหนังสือ สอนธรรมะเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด วันเสาร์-วันอาทิตย์

...

โครงการบ้านเด็กหรรษา คือเลี้ยงดู อุปการะเด็กกำพร้า เด็กไร้ที่พึ่งอยู่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง โครงการมอบทุนการศึกษาให้เด็กยากจนทั้งในชุมชนเมืองและในชนบทถิ่นทุรกันดาร ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษาหรือจนกว่าเด็กจะสามารถเรียนจบในชั้นสูงสุดได้

แต่ละปีได้มีบัณฑิตใหม่เข้ารับปริญญาบัตรมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปีนี้ นางสาวสุพรรณี ยะตะนะ ซึ่งเป็นเด็กมาจากพื้นที่ราบสูงภาคเหนือ เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานครและประสบความสำเร็จในการศึกษาจากการอุปการะเงิน “ทุนการศึกษาช้างเผือก” ของมูลนิธิกลุ่มแสงเทียนมาเป็นเวลา 10 ปีเต็ม

อาตมาฝากบอกบุญไปยังผู้ที่สนใจ ร่วมปัน “อาหาร” ไปสู่ “เด็กด้อยโอกาส” เหล่านี้ตามกำลังศรัทธาที่มีได้ที่บัญชี “มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน (วัดบางไส้ไก่)” ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเจริญพาศน์ เลขที่บัญชี 126-0-36151-2 ประเภทสะสมทรัพย์

โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0-2465-6165 ไลน์ 06-3232-3874 เฟซบุ๊กเพจ : มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน

“เด็กไทย ลูกหลานไทย จะได้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังให้กับครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติในภายภาคหน้า อนาคตของลูกหลานไทยจึงอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเป็นผู้กำหนด เสียสละเท่านั้น ที่จะสามารถสร้างสังคมให้ปกติสุข และเจริญก้าวหน้าดั่งที่ทุกคนปรารถนา” พระมหาสมัยกล่าวทิ้งท้าย.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม