การประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อร่วมวางแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บนพื้นที่สูง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) กับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่
จากการที่ สวพส. ได้นำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ในชุมชนบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง ปรับระบบการปลูกพืชอย่างประณีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ 50 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท ในขณะที่ปลูกพืชผักในโรงเรือนตามองค์ความรู้จากโครงการหลวงบนพื้นที่ 0.5 ไร่ เกษตรกรสร้างรายได้ประมาณ 200,000 บาท
จากการใช้พื้นที่ทำการเกษตรน้อยลง วิธีนี้จะช่วยลดอัตราการเกิดจุด Hotspot ในพื้นที่ เห็นได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ช่วงปี 2565 มีจุดความร้อนน้อยกว่าปี 2564 ถึง 1,629 จุด และในช่วง 1 มกราคม-31 มีนาคม 2566 เกิดจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 4,118 จุด คิดเป็นร้อยละ 6 ของการเกิดจุดความร้อนของพื้นที่ 12 จังหวัดที่มีโครงการตั้งอยู่ ที่เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 67,861 จุด
นอกจากปรับระบบการเกษตร ทำให้ชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงในไม่มีปัญหาการเผา 100% โดยได้รางวัล “ต้นแบบหมู่บ้านปลอดการเผา” จากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2555 และยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล ระดับดีเด่น ประจำปี 2565
ดังนั้นการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตทั้งครอบครัว เกษตรกรกลับมาดูแล บำรุงรักษาและพัฒนาป่า ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการใช้แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการกำหนดขอบเขตที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ป่า จะช่วยลดปัญหาหมอกควันในระยะยาว.
...
สะ–เล–เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม