“เรียนดี มีความสุข มีรายได้”

“วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความ ต้องการ”

นโยบาย 2 ขาของ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) “ศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีหญิงคนแรกของกระทรวง อว.

นโยบาย 2 ขา หมายความว่า ขาหนึ่งคือนโยบายด้านอุดมศึกษา อีกขาหนึ่งคือนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องเดินควบคู่กันเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ดิฉันตั้งใจมาอยู่กระทรวง อว.ตั้งแต่แรก เพราะในฐานะคนเป็นแม่ต้องการให้การศึกษาและวิทยาศาสตร์ของประเทศก้าวหน้าวันนี้เด็กในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ทั้งวิธีคิด การใช้ชีวิต ดังนั้นมหาวิทยาลัยมีโครงสร้างพื้นฐาน มีองค์ความรู้และบุคลากรชั้นแนวหน้าของประเทศจำนวนมาก มหาวิทยาลัยจึงไม่ควรมีบทบาทเพียง เพื่อการผลิตบัณฑิตหรือการสร้างผลงานวิจัย แต่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคนทุกช่วงวัย ทั้งในการพัฒนาตนเองให้ก้าวทันเทคโนโลยี ก้าวทันองค์ความรู้ใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น เป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ในการสร้างธุรกิจทางเทคโนโลยี สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างศิลปินและอาชีพทาง soft power เป็นพื้นที่ของคนในวัยทำงาน ที่จะมาเรียนเอาความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อไปพัฒนาต่อยอดอาชีพและธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ หรือกระทั่งเป็นพื้นที่ของคนสูงวัยที่จะกลับมาเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้ากับสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น” น.ส.ศุภมาส กล่าวถึงบทบาทและทิศทางของอุดมศึกษายุคใหม่

...

ที่สำคัญ สถาบันอุดมศึกษาควรนำทรัพยากร องค์ความรู้ งานวิจัย มาใช้สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ทั้งเยาวชน คนในวัยทำงาน ผู้สูงวัย ชุมชน ภาคธุรกิจและสังคม ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ ส่งเสริมการทำงานฝึกประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษาในระหว่างเรียนร่วมกับภาคเอกชน ชุมชน ประชาสังคม ผ่านหลักสูตรต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้หลักสูตรในมหาวิทยาลัย มีการจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่น้อยกว่า 50% ของหลักสูตรทั้งหมด ภายใน 2 ปี หรือการเปิดให้หลักสูตรในมหาวิทยาลัยเป็นแบบสะสมหน่วยกิตผ่านระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ที่ทุกคนทุกช่วงวัยในประเทศไทย สามารถเข้าเรียนและสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยตั้งเป้าให้รายวิชาที่มี เป็นความจำเป็นต่อการพัฒนาทักษะอาชีพในปัจจุบันและอนาคตอย่างน้อย 50% เป็นแบบสะสมหน่วยกิตภายใน 2 ปี และต้องเป็นแบบสะสมหน่วยกิตทั้งหมดภายใน 3 ปี หรือกระทั่งส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือในองค์กรอื่นๆระหว่างเรียน โดยเฉพาะนักศึกษาที่ยากจน

“ถ้าทำให้นิสิตนักศึกษาเห็นอนาคต เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง เชื่อว่าประเทศไทยมีอนาคตที่ดี วันนี้ อว.ได้คิดค้นระบบธนาคารหน่วยกิต การจัดทำหลักสูตรระยะสั้น (Non–Degree) มีระบบ sandbox ที่นักศึกษาเลือกเรียนในวิชาที่ต้องการได้ มีการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ ไม่จำกัดหน่วยกิตแต่ละภาคการศึกษาพร้อมสนับสนุนให้มีรายได้ระหว่างเรียนหรือทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพื่อลดภาระของนักศึกษาผู้ปกครอง ที่ดิฉันอยากเน้นคือการจัดให้มีระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้นักศึกษาได้เห็นเส้นทางของตัวเองหลังจบจากมหาวิทยาลัย” รมว.อว. กล่าว

ขณะเดียวกัน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็จะทำให้เป็น “ลมหายใจของเศรษฐกิจไทย” ด้วยการ “ใช้นวัตกรรมนำประเทศ” นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีอยู่ในมหา
วิทยาลัยและหน่วยวิจัยต่างๆมาช่วยยกระดับ SMEs และภาคธุรกิจ ให้เป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) โดยมีเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ในการสร้าง IDEs ให้ได้ 1,000 ราย โดยมีรายได้ค่อยๆเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 1,000 ล้านบาท โดยเริ่มจากการสร้างบริษัทขนาดกลางที่มีรายได้ 200-300 ล้านบาท และไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 1,000 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็น unicorn ต่อไป ซึ่งการส่งเสริมให้เกิด IDEs ลักษณะนี้จะช่วยสร้างรายได้ใหม่เติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้มากเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ

“บทบาทของ อว.จากนี้จะสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชน ปลดล็อกระเบียบ รัฐ/ เอกชนร่วมวิจัยได้ เช่น การส่งเสริมบริษัทร่วมลงทุน (holding company) ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถร่วมลงทุนผ่านการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการปรับระบบการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถสนับสนุนสตาร์ตอัพได้โดยตรง ขณะที่จะสร้างกลไกให้เอกชนสามารถลดหย่อนภาษีจากกิจกรรมการวิจัยได้ 300% ขณะเดียวกัน อว.จะเน้นหลักการสำคัญคือเอกชนนำ รัฐสนับสนุนให้เอกชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์เป็นผู้กำหนดทิศทางงานวิจัยว่าควรทำเรื่องอะไรเพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่วิจัยไปเรื่อยโดยไม่สามารถนำไปใช้ งานได้จริง” น.ส.ศุภมาส ระบุ

...

ขณะที่อีกทางหนึ่ง อว.จะจัดสรรทุนให้กับงานวิจัยชั้นแนวหน้าในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น ชีววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีในกลุ่มโอมิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า เช่น ฟิสิกส์พลังงานสูง วิทยาศาสตร์ควอนตัม เป็นต้น เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆในอนาคต

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่านโยบายและการนำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของงานทั้งด้านอุดมศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรวม ล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศทั้งสิ้น

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราอยากฝากคือการสร้างศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย
ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิทยาศาสตร์-วิจัย ภาคเอกชนรวมทั้งประชาชนคือสิ่งสำคัญ

เพราะหากนโยบายดี แต่ขาดองคาพยพที่จะสานนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ทุกอย่างก็อาจจะพังทลายลงในพริบตา.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา