เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้ายุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ชูนโยบาย...“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์”

ยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีและสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง พุ่งเป้า “ประเทศไทย” เดินหน้าไปสู่ “ประเทศรายได้สูง”

ในช่วงที่ผ่านมา “ซอฟต์เพาเวอร์” เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ด้วยถูกใช้เป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสินค้าและบริการที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่ อาหาร ความบันเทิง ละคร ศิลปะ

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นที่นำเสนอ Cool Japan ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยใช้จุดเด่นของสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยเรามุ่งผลักดันส่งเสริม “ซอฟต์เพาเวอร์” ใน 5 ด้านหลัก คือ

...

1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3)ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4)มวยไทย (Fighting) และ 5) การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival)

พุ่งเป้าไปที่ด้าน “อาหาร” ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอาหารและวัตถุดิบเป็นอย่างยิ่ง ชัดเจนแล้วว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” หรือ “ดีพร้อม” จึงเดินหน้ายกระดับวัตถุดิบท้องถิ่น ผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยวัฒนธรรมต่างๆที่ควรค่าแก่การผสมผสาน...ต่อยอดส่งเสริมเป็นซอฟต์เพาเวอร์ รังสรรค์ด้วยความพิถีพิถันตามวิถีชีวิตพื้นบ้าน

พัฒนาเป็นเมนูเด็ดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตามท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคให้เป็นตัวชูโรงหลัก เกิดเป็นกระแสความสนใจของนักท่องเที่ยว สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อมกว่า 22 เมนู ที่มีคุณค่าและเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แต่ละชุมชน อาทิ สเต๊กเกรวี่เรดไวน์ จากชุมชนหนองย่างเสือ จ.สระบุรี, น้ำพริกป่ามะดัน จากคุ้มบ้านญวน ชุมชนท่าทราย จ.นครนายก, เมี่ยงดาหลาสมุนไพรอัลมอนด์ปักษ์ใต้ จากชุมชนพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช

แกงคั่วหัวโหนดไก่บ้าน จากร้านสวนครูโรจน์ชุมชนบ้านชุมพล จ.สงขลา, เมนูโสะเส้นดีพร้อม จากวิสาหกิจชุมชน ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ จ.เชียงใหม่, เมนูพล่าขลู่ทะเลดีพร้อม จากชุมชนบ้านเก่าริมน้ำประแส จ.ระยอง, เมนูส้มมังคุดคัดพรหมโลกดีพร้อม จากชุมชนพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช

เมนูเมี่ยงดอกฟ้าดีพร้อม จากร้านอีสานบ้านเฮาฟาร์ม ชุมชนบ้านดุง จ.อุดรธานี, เมนูโวยวายร่ายมนต์ดีพร้อม จากชุมชนบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต น่าสนใจว่ายังเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ในมิติต่างๆ เช่น วัตถุดิบ แหล่งจำหน่าย และแหล่งท่องเที่ยวคู่ขนานกันไปด้วย

ย้ำว่า “22 เมนูเด็ดดีพร้อมจาก 22 ชุมชน” จะสร้างจุดขายให้กับชุมชน เกิดกระแสความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ นอกประเทศ และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดรายได้เข้าสู่ชุมชน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
ดร.ณัฐพล รังสิตพล

...

แน่นอนว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน

“เสน่ห์ของอาหารไทยอย่างหนึ่งคือเป็นแม่เหล็กอย่างดีที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกให้มาลิ้มลองกับรสชาติเฉพาะแบบฉบับของอาหารไทย อันจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างงาน...สร้างอาชีพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบาย “MIND” ใช้ “หัว” และ “ใจ” ในการทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน

เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยเฉพาะมิติการกระจายรายได้ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มุ่งพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาวิถีชีวิต สร้างประโยชน์

“พัฒนาชุมชนรอบอุตสาหกรรม รวมถึงการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้มีการกระจายโอกาสให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการระดับภูมิภาคได้รับการพัฒนา...ยกระดับศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง”

...

ใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เสริมว่า เรามุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการ...กิจกรรมต่างๆ อาทิ อาชีพดีพร้อม นักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม

จากผลสำเร็จที่ผ่านมา “ดีพร้อม”...ในครึ่งปีหลังจึงเร่งเดินหน้าต่อยอดยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชุมชนในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง ผ่าน “โครงการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหาร” หรือ...เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม

เราจะพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้วยการนำอัตลักษณ์ หรือจุดเด่นของวัตถุดิบดั้งเดิมในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาประยุกต์ต่อยอดอาหารพื้นถิ่นของแต่ละชุมชนให้เกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

รวมถึงการสร้าง “เชฟชุมชนดีพร้อม” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร” การสร้างคอนเทนต์และนวัตกรรมที่เหมาะสม การพัฒนา...ต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์อาหารของดีแต่ละพื้นที่ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนการเสริมเทคนิคสรรค์สร้างรูปแบบการจัดจานให้ดูน่าสนใจ

...

นับรวมไปถึงการเพิ่มทักษะนำเสนอเนื้อหา...บอกเล่าเรื่องราวที่มาแต่ละเมนูอาหารท้องถิ่นของชุมชนนั้นๆ ทั้งยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานต่อยอดภูมิปัญญา วัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์...มีมนต์เสน่ห์

วันนี้โครงการ “เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” นำร่องผลักดัน 22 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีดีพร้อมเซ็นเตอร์ทั้ง 11 แห่ง เป็นพี่เลี้ยงนอกจากจะยกระดับศักยภาพต่อยอดทางธุรกิจแล้ว ยังจะมุ่งเน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวหรืออัตลักษณ์ชุมชนต่อไป

ตั้งหวังไว้ว่าการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ จะเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน สร้างโอกาสให้ประชาชน มีอาชีพ มีรายได้ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น...ยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

เพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบ...เป็นโมเดลในการพัฒนา ขยายผลไปยังชุมชนพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

ภาพหวังที่จะเกิดขึ้น...พลัง “ซอฟต์เพาเวอร์” จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งผลให้ “เศรษฐกิจฐานราก” เกิดความแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน อย่างน้อยๆ...เฉพาะ “22 เมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม” จะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้กว่า 25 ล้านบาท.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม