เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงบทเรียนของการส่งออก “ซอฟต์เพาเวอร์ไทย” จากกรณีของเครื่องดื่มบำรุงกำลัง Red Bull ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในตลาดโลก
ด้วยการปรับปรุงรสชาติของกระทิงแดงไทย จากรสหวานให้มีรสซ่าๆ เหมือนผสมโซดา จนเป็นที่ถูกโฉลกของนักดื่มในระดับสากล
ผมก็เลยสรุปว่า การจะ “ส่งออก” วัฒนธรรม หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์” อะไรก็ตามของเราออกไปอาจจะต้องศึกษาหาความรู้เสียก่อน โดยเฉพาะพวกผลไม้และอาหารว่าคนเมืองนอกเขาชอบรสชาติแบบไหนไม่ชอบรสชาติแบบไหน
ดีกว่าจะส่งออกไปดุ่ยๆโดยไม่หาความรู้อะไรไว้เลย
ก็พอดีผมนึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อเร็วๆนี้มีอาหารไทยของเราอีกอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวดังมากในช่วงงานประชุม “เอเปก” ที่ผ่านมา เพราะเป็นอาหารที่ทางฝ่ายไทยเจ้าภาพงานนี้ หวังว่าจะเป็นที่ถูกใจผู้นำประเทศที่มาประชุมและจะได้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการโปรโมตให้เป็นอาหาร “จานโลก” อีกจานหนึ่งในอนาคต
ปลา “กุเลาตากใบ” ปลาเค็มขึ้นชื่อที่สุดของประเทศไทย จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับฉายาว่า “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” เพราะอร่อยมาก ราคาจึงแพงมาก นั่นแหละครับ
ก่อนงานเอเปกสัก 3-4 เดือนเห็นจะได้ ผมไปเที่ยวงาน “โอทอป” ของกระทรวงมหาดไทย ที่เมืองทองธานี เจอของ “ป้าอ้วน” เจ้าดังตากใบเข้าให้พอดี เลยกัดฟันซื้อตัวเล็กมา 1 ตัว เกือบๆพันบาท
เอามาทอดรับประทานแล้วก็เขียนชื่นชมยาวเหยียดในคอลัมน์ “ซอกแซก” ของไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ต่อมา
จึงรู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อมีข่าวว่าปลากุเลาตากใบ จะได้ขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงใหญ่ ในคืนเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปกกับเขาด้วย
...
ข่าวตอนแรกออกมาในทำนองว่า “เชฟ” หรือพ่อครัวเอกที่จะมารังสรรค์เมนูนี้ ไปเอาปลาเค็มจากไหนมาก็ไม่รู้ ไม่ใช่ปลาเค็มตากใบ จนโดนทัวร์ลงขนานใหญ่ แต่ “เชฟ” ก็ชี้แจงต่อมาว่าเป็นของตากใบแท้ และเป็น 1 ใน 2-3 แบรนด์ที่จังหวัดนราธิวาสยกย่อง
แต่เชฟผู้รังสรรค์เมนูปลากุเลาดังกล่าว ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า ท่านไม่ได้นำมาแล่หรือหั่นทอดเป็นชิ้นๆ แต่จะนำมาอบข้าวและอบตะไคร้ เพื่อจะให้ข้าวมีรสชาติและมีกลิ่นหอมเบาๆ ชวนให้ผู้นำต่างๆอยากชิม
จากนั้นผมก็รอลุ้นว่า ผลการขึ้นโต๊ะเลี้ยงผู้นำเอเปกของปลาเค็มตากใบ จะเป็นอย่างไรบ้าง? เป็นที่ถูกอกถูกใจไหม? จะสามารถนำมาโปรโมตเป็นอาหารอินเตอร์ได้หรือไม่? อย่างไร?
ปรากฏว่าเงียบฉี่ไม่มีข่าวคราวเลยจนกระทั่งงานผ่านไป และได้รับคำชื่นชมจากผู้นำต่างๆ ว่าประเทศไทยจัดได้ยอดเยี่ยม ทั้งในแง่เนื้อหาสาระการประชุมตลอดจนงานเลี้ยงต้อนรับที่อลังการมาก
เพิ่งไม่กี่เดือนนี่เองครับ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูงและอยู่เบื้องหลังการจัดอาหารและความบันเทิงต่างๆ ในคืนเลี้ยงรับรอง...จึงทราบข่าวจากท่านว่า
อาหารไทยๆที่เหลือเยอะที่สุดบนโต๊ะเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปกคืนนั้นก็คืออาหารที่ปรุงจาก “ปลากุเลาเค็ม” นี่เอง ซึ่งถ้าตีความจากคำให้สัมภาษณ์ของเชฟข้างต้นก็คือข้าวที่อบด้วยปลากุเลากับตะไคร้นั่นแหละ
บางโต๊ะมีริ้วรอยว่ามีการตักชิมบ้าง แต่ก็ไม่มากนักและบางโต๊ะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการตักรับประทานแม้แต่ช้อนเดียว
แหล่งข่าวระดับสูงของผมแจ้งข่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆว่า ท่านเสียดายมากเพราะคาดหวังไว้สูงกับเมนูนี้...แต่ท่านก็ยังไม่ท้อจะหาทางต่อสู้พัฒนาและส่งเสริมต่อไป ซึ่งผมก็ให้กำลังใจท่านไปแล้ว ขอให้สู้สู้เต็มที่
อะไรบางอย่างที่เราลองแล้ว วิจัยแล้ว เมื่อนำไปเผยแพร่ไม่สำเร็จก็ต้องเปลี่ยนวิธี หรือไม่ก็เปลี่ยนหาตลาดใหม่...ปลาเค็มอาจกลิ่นแรงเกินไปสำหรับตะวันตก เราก็เปลี่ยนเป็นตลาดจีนหรือตลาดเอเชียอื่นๆเสียอาจประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
เหมือน “ทุเรียน” นั่นแหละ ฝรั่งเหม็นไม่ยอมกินแต่ “คนจีน” รับประทานไม่เหลือและไม่กลัวร้อนในด้วย
สรุปว่าซอฟต์เพาเวอร์เรื่องอาหารนั้น ขอให้สู้ต่อไป แพ้บ้าง ชนะบ้าง ลองไปเรื่อยๆ ตลาดนี้ไม่รับก็ไปตลาดโน้นคงต้องเจอ “แจ็กพอต” จนได้แหละครับ หากไม่ละความพยายาม.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม