เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงละครเวทีมิวสิคัลของ “คุณบอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ เรื่อง “WATERFALL A new musical” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์อมตะเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา” ที่กลับมาแสดงอีกครั้งที่โรงละครรัชดาลัยในขณะนี้

เล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเค้าโครงเรื่องเสียใหม่ โดยเฉพาะนางเอกได้เปลี่ยนจาก คุณหญิงกีรติ ผู้สูงศักดิ์วัย 35-36 ปี เป็นสาวใหญ่ชาวอเมริกันที่มาแต่งงานกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ส่วนพระเอกคือหนุ่มน้อย นพพร วัย 22-23 ปี ยังคงไว้ตามเดิม แต่ให้เด็กเอเชียเกิดเมืองนอกมาแสดงแทนคนไทย

ประเด็นที่ติดใจผมจนต้องขออนุญาตนำมาเขียนต่อในวันนี้ก็คือ ความพยายามที่จะดัดแปลงเรื่องราวที่เป็นนวนิยายไทยๆให้เป็นสากล มีรสชาติสากลบ้างในการที่จะนำไปแสดงต่างประเทศนี่แหละครับ

เนื้อหาที่คุณบอยกับทีมงานเขียนบทของท่านที่เป็นมือเขียนบทดังของบรอดเวย์ และเคยเขียนบทในเรื่อง Miss Saigon มาแล้วจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ในหลักการก็คือ สินค้าไทยๆอะไรก็ตามโดยเฉพาะสินค้าประเภท “ซอฟต์เพาเวอร์” อาจจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของตลาดโลกบ้าง จึงจะประสบความสำเร็จสูงสุด

ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาสำหรับผมเองก็คือ เครื่องดื่ม Red Bull ซึ่งพัฒนาไปจาก “กระทิงแดง” ของไทยเรานี่แหละครับ

เมื่อตอนที่คุณ ดีทริช เมเทสซิทซ์ ชาวออสเตรีย แต่เป็นเซลส์แมนขายยาสีฟัน “เบลนแด็กซ์” ให้กับเยอรมนีในประเทศไทย ต้องเดินทางมาเมืองไทยบ่อยๆนั้น เขาก็ดื่ม “กระทิงแดง” ไทย ของคุณ เฉลียว อยู่วิทยา ตามอย่างคนขับรถบรรทุกในเมืองไทยในยุคโน้น จนเกิดความคิดว่าถ้าเอาไปขายต่างประเทศบ้างต้องขายได้แน่ๆ

...

แต่เขาก็บอกกับคุณเฉลียวว่าคงต้องปรับสูตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของฝรั่ง ซึ่งในที่สุดก็ออกมาเป็นรสซ่าๆปร่าๆไปคนละรสชาติกับกระทิงแดงบ้านเรา

ผมจำได้ว่าตัวเองก็เคยติดเครื่องดื่มประเภทนี้ เพราะตอนหนุ่มต้องออกตระเวนชนบทแบบเดือนเว้นเดือน ต้องตื่นเช้ามากๆและกลับค่ำๆ จึงหันไปดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังแบบพี่น้องกรรมกรแบกหามอยู่พักใหญ่

สมัยนั้นที่ดังๆก็มีลิโพกับกระทิงแดง ผมก็ดื่มสลับกันไป จนมีอยู่พักหนึ่งไปตรวจเลือดปรากฏว่าน้ำตาลสูง คุณหมอสันนิษฐานว่า เพราะผมดื่มเจ้า 2 ตัวนี้มากเกินไป จึงบังคับให้งดเสีย ซึ่งผมก็งดตามหมอสั่ง แต่ยังจำรสชาติได้ดีว่าออกหวานๆ มีขมนิดๆแบบใส่กาแฟเอาไว้ด้วย

มีอยู่วันหนึ่งผมไป ออสเตรีย ประเทศแรกที่ผลิตเรดบูลส์ ตามสูตรใหม่ เพื่อนที่โน่นสั่งมาให้ดื่มกระป๋องหนึ่ง ปรากฏว่า ผมดื่มไม่กี่อึกก็วางลง...รู้สึกว่าไม่มีรส ไม่หวาน ไม่น่าดื่มเหมือนของเรา

อีกหลายปีต่อมาผมไปเยี่ยมเพื่อนๆที่อเมริกา ตกใจมากเมื่อทราบว่า Red Bull รสชาติกร่อยที่ว่านั้นขายดีมากในนิวยอร์ก และรัฐอื่นๆ...ต่อมาก็มีข่าวว่าขายดีทั่วโลก รวมทั้งในยุโรปด้วย

จากกรณีนี้เอง ทำให้ผมฝังใจมาตลอดว่า การจะส่งอาหาร หรือเครื่องดื่มที่คนไทยชอบ ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยไปขายเมืองนอกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับรสชาติให้คนเมืองนอกเขาชอบด้วย

อย่างกรณี “ผัดไทย” เราไม่ได้ปรับรสชาติอะไรมากมาย แค่เผ็ดน้อยลง ทำให้ฝรั่งรับประทานได้และเมื่อรับประทานแล้วเขาก็ติดใจ จนผัดไทยโด่งดังไปทั่วโลกในที่สุด

รวมทั้ง “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งพอเผ็ดน้อยลงเท่านั้น ก็ฮิตทั่วโลกเช่นกัน

สำหรับข้าว “ไก่กะเพรา” หรือ “หมูกะเพรา” ที่มีการประกวดและเตรียมผลักดันสู่เวทีโลก เมื่อเร็วๆนี้ ความจริงก็ไปเมืองนอก พร้อม “ผัดไทย” อยู่แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนผัดไทย คงจะต้องค้นหากันต่อไปว่าเพราะอะไร?

ขอเอาใจช่วยทุกๆ “ซอฟต์เพาเวอร์” นะครับ ไม่ว่าอาหารไทย ละครไทย ภาพยนตร์ไทย ผ้าไทย และวัฒนธรรมไทยต่างๆ ขอให้โชคดีออกไปยึดครองตลาดโลกให้ได้เยอะๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อสำคัญอย่าลืมหาข้อมูลก่อน และพยายามปรับเข้าหารสนิยมของต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้...ผมเชื่อว่าที่เกาหลีเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในทุกวันนี้ คงเป็นเพราะเขาไปหาข้อมูลล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้วนั่นเอง

ไม่ใช่จู่ๆก็ดุ่ยไปตายดาบหน้า ซึ่งจะมีโอกาส “ตาย” สูงมากในท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลกยุคปัจจุบัน.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม