พาณิชย์เผยอาเซียนประกาศเปิดเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ดีเดย์นัดแรกเดือน พ.ย.นี้ ตั้งเป้าปิดดีลปี 68 หวังขยายมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ เตรียมพร้อมรับมือประเด็นอุบัติใหม่ มั่นใจเสริมแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในอนาคตได้แน่
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งที่ประชุมได้ประกาศเริ่มเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) อย่างเป็นทางการ โดยจะเจรจารอบแรกเดือน พ.ย.นี้ ตั้งเป้าหมายสรุปผลภายใน 2 ปี คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าดิจิทัลในอาเซียนได้ถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 73
“ความตกลงนี้จะช่วยให้อาเซียนมีกรอบกติกาการค้าดิจิทัลที่เหมือนกัน เปิดกว้าง และปลอดภัยในการทำธุรกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าดิจิทัลระหว่างกันอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงเสริมศักยภาพด้านการแข่งขัน และลดช่องว่างด้านดิจิทัล นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนมากขึ้น”
อาเซียนวางกรอบเจรจา DEFA
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า DEFA เป็นหนึ่งในเป้าหมายดำเนินการ ในช่วงที่บรูไนเป็นประธานอาเซียนปี 64 เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ด้วยการเจรจา DEFA ที่ตั้งเป้าหมายให้เสร็จในปี 68 โดยอาเซียนได้จัดทำกรอบการเจรจา ดังนี้ 1.การค้าดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกันได้ 2.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม 3.สนับสนุนระบบการชำระเงินดิจิทัล และใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างกัน แต่เชื่อมต่อกันได้
4.การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล ที่เชื่อมต่อกันและยอมรับร่วมกันได้ภายในภูมิภาค 5.ยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย พร้อมคุ้มครองผู้มีส่วนร่วมในธุรกรรมทางดิจิทัล 6.การอำนวยความสะดวกในการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 7.สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรม/ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้แข่งขันได้อย่างโปร่งใส 8.สร้างกลไกความร่วมมือด้านระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในประเด็นอุบัติใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และ 9.การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคลที่มีทักษะด้านดิจิทัลในอาเซียน
เปิดกว้าง ปลอดภัยไร้รอยต่อดึงลงทุน
สำหรับประโยชน์ของ DEFA จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน แบบเปิดกว้าง ปลอดภัย ไร้รอยต่อ แข่งขันได้ และเท่าเทียม และสร้างกลไกความร่วมมือด้านดิจิทัลที่จะช่วยลดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างสมาชิก ทำให้นำดิจิทัลมาใช้ทำธุรกิจและในชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
“อาเซียน คาดหวังว่า DEFA จะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ ดึงดูดการค้า การลงทุน ทำให้อาเซียนมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และความท้าทายใหม่ๆ พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน และประชาคม ที่มีตลาดเดียวในอนาคต” นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง ปี 65 อยู่ที่ 131,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดจะเติบโตได้ถึง 212,000 ล้านเหรียญ ในปี 68 ในจำนวนนี้อินโดนีเซียจะมีมูลค่าสูงสุดถึง 95,000 ล้านเหรียญ ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 ที่ 53,000 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับไทย นอกจากจะได้รับประโยชน์แล้ว ยังมีความท้าทาย ซึ่งทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดย่อม ที่ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนประชาชนก็ต้องพัฒนาความรู้ทางดิจิทัล เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้ใช้ประโยชน์จาก DEFA ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ แรงงานไทยอาจเสี่ยงถูกทดแทนจากแรงงานต่างชาติ เพราะ DEFA จะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาค แรงงานไทยต้องเพิ่มทักษะ (upskill) และเปลี่ยนทักษะ (reskill) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสการเป็นห่วงโซ่อุปทานด้านดิจิทัล
ไทยจ่อร่วม DEPA เสริมแกร่งค้าดิจิทัล
นางอรมน กล่าวอีกว่า เจรจา DEFA ประเด็นที่อาจหารือกันอย่างกว้างขวาง คือ การเก็บภาษีการค้าผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ยกเว้นจัดเก็บ 2 ปี หลังครบ 2 ปีแล้ว สมาชิกจะหารือกันใหม่ว่าจะยังยกเว้นต่ออีก 2 ปีหรือไม่ ท่าทีของไทยในการเจรจา DEFA ก็จะยึดตามกรอบ WTO แต่ความตกลงอื่นๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่สิงคโปร์เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับนิวซีแลนด์ ชิลี บังคับใช้ตั้งแต่ปี 64, ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP), ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของบางประเทศไม่เก็บภาษีการค้าผ่านดิจิทัล
“การไม่เก็บภาษีการค้าดิจิทัลที่คุยกันในเวทีโลก จะนับเฉพาะสินค้าที่ดาวน์โหลดผ่านระบบดิจิทัล และซื้อขายทางดิจิทัล เช่น e-Book ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ ไม่ใช่สินค้าจับต้องได้ที่ซื้อผ่านดิจิทัล และต้องใช้คนขนส่งจนถึงผู้ซื้อ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือเป็นเล่มๆ ฯลฯ เพราะสินค้าจับต้องได้ แม้ซื้อทางออนไลน์ แต่เมื่อส่งมาถึงไทย ต้องผ่านด่านศุลกากร ซึ่งก็ต้องเสียภาษีแล้ว ไม่ใช่ทุกสินค้าที่ซื้อผ่านดิจิทัลจะไม่เก็บภาษีทั้งหมด”
ส่วน DEPA ของสิงคโปร์นั้น นางอรมนกล่าวว่า ไทยได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและมีแนวโน้มจะเข้าร่วม ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้การค้าดิจิทัลของไทยขยายตัวได้มากขึ้นอย่างมั่นคงในอนาคต
...ทั้งนี้ เพื่อร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจค้นหาอนาคตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน ไทยรัฐกรุ๊ปได้จัดงาน “Thairath Forum 2023 Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” โดยมีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติขึ้นเวทีตอบข้อซักถาม ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ผู้ที่สนใจมองอนาคตไทยไปด้วยกัน ติดตามรับชมได้ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 และไทยรัฐออนไลน์ รวมทั้งติดตามอ่านข่าวได้ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ.