จากการอภิปรายเรื่อง National Agenda to Stop Childhood Obesity : วาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยเร่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก โดยข้อมูลเด็กน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าใน 20 ปี ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกิน คือ 1 ใน 3 ของเด็กดื่มน้ำอัดลม อาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ และกินผักผลไม้ กินมื้อเช้าลดลง ประกอบกับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น มาตรการสำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มจากเด็กเป็นศูนย์กลาง มีความรู้เข้าใจอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพตนเอง มีครอบครัว ชุมชน ช่วยสนับสนุนเสริม และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมจัดการไปด้วยกัน

ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า แนวโน้มเด็กอ้วนที่ระดับรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น พบเด็กอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจอุดกลั้น โรคกระดูกและข้อ ส่งผลถึงการใช้ทรัพยากรในการรักษาสูงขึ้นอย่างมาก การจัดการสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมให้เด็กและครอบครัวมีความรอบรู้ สุขภาพเป็นสิ่งที่ยังท้าทาย และถือว่าเป็นมาตรการที่คุ้มค่ากว่าการรักษาโรคอ้วน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) การดูแล ส่งต่อในสถานบริการสาธารณสุขแต่ละระดับ (Service delivery by level of care) เพื่อการดูแลเด็กที่ครอบคลุม.