ถ้าไม่จำเป็นจริงๆคงไม่มีใครอยากย้ายจากบ้านหลังเดิมที่อาศัยมานานนับสิบปีไปอยู่ที่ใหม่ เพราะมีความยุ่งยากต่างๆมากมาย ทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ไปจนถึงการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่บางครั้งการได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม อาจจะเป็นทางเลือกที่ทำให้คนย้ายบ้านตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

ตอนที่การเคหะแห่งชาติเดินหน้า แผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ.2559–2567) ด้วยการทุบแฟลตดินแดง อาคารที่อยู่อาศัย 5 ชั้น 64 อาคาร ซึ่งมีอายุการใช้งานมาแล้วหลายสิบปี โดยสร้างอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ให้อยู่แทน ก็เคยมีปัญหาชาวแฟลตบางส่วนไม่ยอมโยกย้าย ทั้งๆที่บ้านใหม่เพียบพร้อมทันสมัยกว่า แถมอยู่ใกล้ๆกับแฟลตเดิม แม้ต้องจ่ายค่าเช่าและส่วนกลางแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังเฟสแรกนำร่องไปแล้ว คนที่สมัครใจย้ายไปก็มีความสุขสะดวกสบายมากขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าฯการเคหะแห่งชาติ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 อาคารแปลง G สูง 28 ชั้น จำนวน 334 หน่วย ซึ่งบรรจุผู้อยู่อาศัยครบถ้วนแล้ว

...

ภายในโครงการมีการปลูกผักปลอดสารพิษบนดาดฟ้าชั้นที่ 28 ของกลุ่มเกษตรอาสาพอเพียง ทั้งปลูกไว้กินเองและนำไปขายเป็นค่าแรงให้สมาชิกที่มาช่วยดูแลแปลงผัก และยังมีกลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน สมาชิกมีเงินออมจากขยะที่นำไปขาย รวมถึงความร่วมมือกับสำนักอนามัย กทม. จัดศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่โครงการ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้รับบริการการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานด้วย

คุณสมัย แสงชาติ ประธานชุมชนฯ แปลง G เผยว่า หลังจากชาวแฟลตย้ายมาแล้วมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีระบบการบริหารจัดการดี ห้องใหม่ขนาด 33 ตร.ม. สะอาด มีลิฟต์ใช้ สภาพแวดล้อมดี ขยะไม่ตกค้าง คนในชุมชนชีวิตสะดวกสบายขึ้น อยู่แบบค่าเช่าหลักร้อย แต่วิวหลักล้าน มีเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างอุ่นใจ

ส่วน โครงการฟื้นฟูเมืองฯ ระยะที่ 2 อาคาร D1 สูง 35 ชั้น รวม 612 หน่วย ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้า 72.99% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จราวต้นปี 2567 จุดเด่นของอาคาร D1 นอกจากเป็นการออกแบบด้านอารยสถาปัตยกรรม (Universal Design) ยังมีสวนและพื้นที่สีเขียวบริเวณชั้น 7 ชั้น 24 และชั้นดาดฟ้า

ระหว่างการก่อสร้างก็มีการเตรียมความพร้อมย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมเข้าไปอยู่ในที่ใหม่ไปพร้อมกัน เรียกได้ว่าสร้างเสร็จปุ๊บพร้อมเข้าอยู่ได้ปั๊บ ส่วนลูกบ้านรายใดที่ไม่พร้อมย้ายไปที่ใหม่ ก็มีทางเลือกอื่นชดเชยให้ คือหากไม่ขอรับสิทธิเข้าอยู่อาคารใหม่จะได้รับเงินชดเชย 400,000 บาท และเงินช่วยเหลือการขนย้าย 10,000 บาท

โครงการฟื้นฟูเมืองของการเคหะฯเริ่มต้นที่ชุมชนดินแดงก่อน เปรียบเหมือนโมเดลต้นแบบ เตรียมจะขยายไปยังชุมชนเคหะอื่นอาทิ ห้วยขวาง รามอินทรา และทุ่งสองห้อง ต้องยอมรับว่าแต่ละพื้นที่มีมูลค่าที่ดินสูงมากในปัจจุบัน ขณะที่อาคารที่อยู่อาศัยอายุหลายสิบปีย่อมเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา โครงการฟื้นฟูเมืองจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสด้านอื่นให้แก่ผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกัน

คุณทวีพงษ์กล่าวว่า แนวทางของโครงการฟื้นฟูเมืองนั้น ตั้งใจพัฒนาทุกแห่งให้เป็น Smart Community เพราะทุกวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมดิจิทัล คำว่า Smart Community ไม่ใช่สมาร์ทเพราะใช้ระบบไอที แต่เป็นความสมาร์ทของการมีที่อยู่อาศัย มีเศรษฐกิจที่ดี มีสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และทุกคนมีส่วนร่วม ตอบโจทย์ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกในเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)

บ้านเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้ามีบ้านดีก็จะมีแรงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของชีวิต.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม

...