วันเสาร์สบายๆวันนี้มาอัปเดตมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันซักหน่อย เรื่องนี้ขยับเข้าใกล้ตัวเราเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตื่นตัวรณรงค์มากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่และภาคธุรกิจที่ตั้งเป้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ต่างเร่งปรับตัว เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ หรือ CSR เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยงต่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว
เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะภาคธุรกิจได้มีเครื่องมือในการจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งใช้สื่อสารผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จึงได้จัดทำ ระบบรายงานการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ขององค์กร(Carbon Footprint for Organization หรือ CFO) ขึ้นมา เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้ ประเมินปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และนำผลที่ได้ไปหาวิธี ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไม่เพียงเป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการค้าขายกับต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามกระบวนการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ค่าต่างๆ และการประเมินผลการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ที่ใช้อยู่ค่อนข้าง ซับซ้อนยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง อบก.จึงได้จัดทำเครื่องมือการประเมิน CFO ในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม คาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ในช่วงต้นเดือนหน้า
แพลตฟอร์มนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทุกองค์กรที่ต้องการประเมิน CFO มีกลไกการใช้งานคล่องตัว กรอกข้อมูลได้เองง่ายๆ ระบบจะวิเคราะห์ค่าต่างๆให้โดยอัตโนมัติ ภาคธุรกิจสามารถคำนวณและรายงานค่า CFO ได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมกับเชื่อมการทำงานได้ครบวงจร ทั้งการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ และการชดเชยคาร์บอน
...
ถ้าองค์กรต่างๆตื่นตัวเข้ามาใช้ระบบประเมิน CFO ของ อบก. จะทำให้เจ้าตัวรู้ว่ามีการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ออกมาเท่าไหร่ ควรต้องลดอย่างไร ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่าไหร่ เมื่อหลายองค์กรร่วมกันดำเนินการ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ยิ่งดีขึ้น
ผมสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มแบบนี้ เพราะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ง่าย และยังเป็นบิ๊กดาต้าให้ภาครัฐกำหนดนโยบายได้อย่างตรงจุด
เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ อบก. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริษัท พิมส์ เทคโนโลจิส จำกัด และหน่วยงานพันธมิตร ก็เพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชัน ZERO CARBON สำหรับใช้ในการ ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทนำเที่ยวสามารถโหลดแอปและกรอกข้อมูลเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังได้รู้แหล่งและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกิจกรรมท่องเที่ยวของตนเอง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยไปในทิศทางเดียวกับเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกที่ใส่ใจการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
การจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ย่อมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอสมควร เดี๋ยวนี้การจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ เช่น จัดคอนเสิร์ต หรืองานแสดงสินค้า มักมีการแจ้งตัวเลขประเมินปริมาณการปล่อย
คาร์บอนฟุตปรินต์ และปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาชดเชย เพื่อโชว์ว่าเป็นอีเวนต์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม ไม่อย่างนั้นอาจเสียฐานลูกค้าที่อินเทรนด์กับความเป็นมนุษย์สีเขียว
เมื่อกระแสโลกไปทางไหน ภาครัฐก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆก้าวตามให้ทันครับ.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม